ศ.คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยถึงผลการประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อ 15 มีนาคม 66 ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาโครงการโทรเวชกรรมถ้วนหน้า (Universal Telehealth Coverage : UTHC) หรือ “เทเลเฮลท์” ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ขอสนับสนุนงบจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส ซึ่งอนุกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติงบจำนวน 3,500 ล้านบาทแล้ว เป็นไปตามโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (ยูโซ่) โดยโครงการเทเลเฮลท์ เป็นหนึ่งใน 13 โครงการย่อยที่ กสทช. ทำร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นที่ปรึกษา
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาวันนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ที่ประชุมบอร์ด กสทช. จึงนัดประชุมอีกรอบในวันที่ 29 มีนาคม 2566 ซึ่งหากท้ายที่สุดแล้วยังไม่ได้ข้อสรุป ก็คงต้องลงคะแนนอีกครั้ง
ประธาน กสทช. ยืนยันว่า โครงการนี้ไม่ได้ทำเรื่องขอมาในช่วงที่ตนรับตำแหน่งประธานบอร์ด กสทช. แต่ได้ส่งเสริมให้เกิดขึ้น เพราะเป็นโครงการที่ทำค้างมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 และจำเป็นต้องจัดการงบ เพราะจะครบ 1 ปี ที่ยื่นขอเข้ามาโครงการจำเป็นต้องมีจัดหางบประมาณไม่ใช่รีบเร่ง เพราะประเด็นการเมือง
อีกทั้ง จุดเริ่มต้นของโครงการไม่ใช่สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขมาของบประมาณ กสทช. หรือ กสทช. ทำโครงการให้กระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นการตั้งคณะทำงานหารือร่วมกัน 24 หน่วยงาน เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.),กรมบัญชีกลาง , กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อต้องการให้ เทเลเฮลท์ เกิดการใช้งานได้จริง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และผู้ป่วยอื่นๆ ที่ไม่สามารถเดินทางมาพบแพทย์ได้ สามารถพบแพทย์ผ่านแพลตฟอร์มโครงการนี้ได้ คาดจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยประมาณ 50,000 คน กับ 1,194 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
ทั้งนี้ “เทเลเฮลธ์ กับ เทเลเมดิซีน” คนละความหมายกัน เราไม่ได้ทำแค่เน็ตเวิร์กให้ผ่าตัดทางไกล เราไม่อยากทำแค่โครงการทดลองเหมือนที่ผ่านมา เพราะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่เราต้องการเปลี่ยนโครงสร้างด้านสาธารณสุข ผมไม่ได้เป็นคนจัดสรรงบ มีการจัดสรรมาก่อนที่ผมจะเป็นกสทช.ถามว่าโครงการซ้ำซ้อนกับที่มีอยู่หรือไม่ ก็ได้คำตอบจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า ไม่ เพราะโครงการนี้เป็นการวางโครงสร้างโทรคมนาคมที่มากกว่าการสื่อสาร และก่อนจะมาเป็นประธาน กสทช. ซึ่งคณะทำงานเดิมได้จัดงบยูโซ่สำหรับปี 2565 โดยให้ตัดงบ 8,000 ล้าน ให้กับสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งการศึกษา ส่วนหนึ่งให้คนพิการ และส่วนหนึ่งให้ความมั่นคง ซึ่งตนไม่ได้จัดสรรงบ เพราะฉะนั้นมีการจัดสรรมาก่อนรับหน้าที่ กสทช.
ไม่ทบทวนการคัดเลือก-แต่งตั้งเลขา กสทช.
ส่วนประเด็น การสรรหาเลขาธิการ กสทช. ประธาน กสทช. ระบุว่า การสรรหาเลขาธิการ กสทช. มีกฎหมายเฉพาะตามมาตรา 60,61 ระบุว่า ประธานมีอำนาจแต่งตั้งและปลดเลขาธิการ กสทช. ได้ การเลือกเลขาฯ กสทช. ทำได้ 2 วิธี คือ เลือกเอง หรือ ให้บอร์ดเลือก ดังนั้นเมื่อเลขาฯ มีหน้าที่ทำงานใกล้ชิดประธาน และประธานต้องดูแลสำนักงาน กสทช. ขณะที่บอร์ดที่เหลือไม่ใช่ จึงจำเป็นต้องเลือกคนที่ทำงานกับตนเองได้
ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปดูในสมัยที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เป็นเลขาธิการ ที่เปิดรับสมัคร และให้บอร์ดทั้ง 11 คนเลือกตามคะแนนผลโหวต แต่เมื่อ นายฐากร หมดวาระ ประธาน กสทช. ก็เป็นคนเสนอชื่อเอง โดยไม่มีการเปิดรับสมัคร และบอร์ดมีหน้าที่เห็นชอบเท่านั้น
“ผมไม่ได้แปลผลตามกฎหมายเอง ถ้าอ่านตามตัวหนังสือ ตอนที่อยู่กันกับบอร์ด 5 คน เราก็ส่งให้อนุกรรมการกฎหมายดูแล้วว่าเหมาะสม ซึ่งอนุฯ บอกว่า ประธานจะใช้กระบวนการอย่างไรก็ได้ ทั้งเปิดรับสมัคร หรือ เชื้อเชิญ หรือ เลือกใครที่มีคุณสมบัติก็ได้ และให้กรรมการเห็นชอบ ผมไม่ได้กินเอง ชงเอง องค์กรอื่น แม้แต่ศาลปกครองเอง ผมไม่ได้มอบอำนาจให้ตัวเอง กฎหมายมอบอำนาจให้ผม ผมก็เลยแจ้งเพื่อทราบว่าผมจะสรรหาเอง” ประธาน กสทช. ระบุ และยืนยันว่า จะรีบเปิดรับสมัครเร็วที่สุด ใช้กระบวนการเปิดรับสมัคร 14 วัน โดยตนเองจะเลือกเองเหลือ 1 คน เสนอบอร์ดเห็นชอบเท่านั้น คาดว่าจะได้ภายในเดือน เม.ย.นี้