ควันหลงประมูลโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ วงการตั้งข้อกังขาหนังสือรับรองผลงานของวงษ์สยามก่อสร้าง ที่ กปภ. ออกให้สุดเว่อวังมาจากไหน หลังตรวจสอบไม่พบในสัญญาและแบบก่อสร้าง ทำโครงการประมูลชะงักไปร่วมปี
ผู้สื่อข่าวรายงานจากการประปานครหลวง ถึงโครงการประมูลจัดสร้างและขยายกำลังผลิตน้ำ โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ว่า แม้ทาง กปน. จะลงนามในสัญญาโครงการดังกล่าวกับกลุ่ม ITA Consortium ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ต้องเดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
แต่ในส่วนของข้อร้องเรียนของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ที่มีต่อโครงการนี้ และทำให้การประมูลต้องล่าช้าไปกว่าขวบปีนั้น แหล่งข่าวในการประปานครหลวง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นผลมาจากหนังสือรับรองผลงานที่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ที่ยื่นประกอบการประมูล ซึ่งออกโดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งเท่าที่ฝ่ายบริหาร กปน. ได้ตรวจสอบไปยังการประปาภูมิภาค และพบว่า ไม่เคยมีการออกหนังสือรับรองในลักษณะเช่นนี้มาก่อน ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตตามมาว่า หนังสือรับรองฉบับนี่มาจากหน่วยงาน กปภ. จริงหรือไม่ และออกมาได้อย่างไร
เนื่่องจากรายละเอียดของหนังสือรับรองฉบับดังกล่าว ที่บริษัทอ้างว่า กปภ. ออกให้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 64 ก่อนยื่นประมูลโครงการเพียงวันเดียวนั้น มีความแตกต่างไปจากหนังสือรับรองผลงานโดยทั่วไป
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า บริษัทมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอน และระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปาจริงอยู่เพียง 96,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันเท่านั้น แต่ได้มีการเพิ่มเติมข้อความที่ระบุว่า "เผื่อน้ำสูญเสีย10% รวมกำลังผลิตน้ำ 105,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเป็นการรับรองผลงานที่ไม่เคยมีการกระทำในลักษณะเช่นนี้มาก่อน และยังไม่มีในสำเนาสัญญา และไม่ตรงกับแบบก่อสร้าง ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตดูว่า เป็นการออกหนังสือรับรองที่ไม่เป็นไปตามระเบียบที่กรมบัญชีกลางกำหนด
“ตามระเบียบของกรมบัญชีกลางนั้นจะต้องเป็นการรับรองตามข้อเท็จจริงเท่านั้น อีกทั้งในด้านของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่บริษัทเสนอที่ถือเป็น “สาระสำคัญ” ยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดและคุณสมบัติเฉพาะตามประกาศ TOR กำหนดอีกด้วย”
ส่วนการที่บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ผู้ยื่นอุทธรณ์โครงการฯ นี้ อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณานั้น ทาง กปน. ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังบริษัท และกรมบัญชีกลางแล้ว ยืนยันว่า บริษัทไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์มาตั้งแต่แรก เพราะข้อกำหนดในเรื่องของประสบการณ์และผลงานการผบิตน้ำที่ กปน. กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาฯ ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันนั้น กปน.ยืนยันว่า ต้องหมายถึง “กำลังการผลิตน้ำสุทธิ” ที่เป็นไปตามหลักวิศวกรรมการประปา และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดทำโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งประเด็นดังกล่าว บริษัทเองไม่ได้มีการทักท้วงหรือตั้งข้อกังขาต่อนิยามผลงานโครงการที่ต้องนำมาแสดงประกอบการประมูลมาตั้งแต่ต้น เมื่อยื่นข้อเสนอเข้ามาแล้วไม่เป็นไปตามเกณฑ์ แถมเอกสารรับรองผลงานที่อ้างถึงก็ยังมีปัญหา จึงไม่ได้รับการพิจารณาตั้งแต่ต้น
ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งเมื่อ 24 มีนาคม 66 ให้ กปน.ชะลอการลงนามสัญญาโครงการโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์กับบริษัทเอกชนผู้ชนะประมูลไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น ฝ่ายบริหาร กปน. จะต้องมีหนังสือชี้แจงกลับไปศาลถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องตัดสินใจลงนามในสัญญาไปก่อนหน้านี้ ส่วนบริษัทที่ยื่นอุทธรณ์ทั้ง 2 บริษัท คงต้องรอเวลาเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลางต่อไป