กรณีศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ให้ “ยกฟ้อง” คดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม. กรณีมีมติเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 64 ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 63
……………
โดยศาลเห็นว่า การยกเลิกประกาศเชิญชวนและการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนมิได้เป็นไปโดยอำเภอใจ แต่เป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ระหว่างรัฐและเอกชน ตาม ม.6 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 ซึ่งถือเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
เป็นการ "หักดิบ" คำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่มีคำพิพากษาก่อนหน้านี้ว่า การดำเนินการของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลคัดเลือกกลางอากาศเป็นไปโดยมิชอบ ส่อเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย จึงให้เพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ รวมถึงเพิกถอนประกาศยกเลิกประกวดราคาดังกล่าวไป
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาข้างต้น แต่ก็หาได้สร้างความกระจ่างต่อสังคมโดยเฉพาะในประเด็นการที่คณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกใหม่ จากที่ต้องพิจารณาข้อเสนอราคา Price Only เอกชนที่เสนอขอรับการสนับสนุนค่าก่อสร้างจากภาครัฐน้อยที่สุด มาเป็นการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค และราคาประกอบ Price Performance ภายหลังขายซองประกวดราคา (RFP) ไปแล้ว
อีกทั้งก่อนหน้านี้ “ตุลาการเสียงข้างน้อย” ที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ได้มีบันทึกเป็นรายงานชัดเจนว่า สิ่งที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการไป เป็นการกระทำนอกเหนือขอบเขตอำนาจหน้าที่ เพราะการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นหลักการอันเป็น “สาระสำคัญ” ในด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐโดยตรง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจ แต่มีหน้าที่ต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณา
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษายกฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ต่อการแก้ไขเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก และยกเลิกประกาศประกวดราคาในครั้งก่อน เพื่อรองรับการเปิดประมูลคัดเลือกใหม่ที่ รฟม. ได้ดำเนินการไปแบบ “ม้วนเดียวจบ” จนได้บริษัทเอกชนผู้ชนะประมูล คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในเครือกลุ่ม ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว
แต่ก็หาได้ทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ว่า เดินหน้าต่อไปได้ ตรงกันข้ามกลับยังคงต้องไปลุ้น “วัดดวง” เอากับรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะต้อง “ปูเสื่อรอ” จากนี้ไป 4-5 เดือนเป็นอย่างน้อย จนแทบจะกล่าวได้ว่าคำพิพากษาที่ออกมาดังกล่าว “เสียของ” แถมยังทำให้ “อุจจาระ” กระเด็นกระดอนเปื้อนมือ” เข้าไปด้วยอีก!
อย่างที่ “เนติบริกร - นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ออกตัวไปแล้ว แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาอย่างไร โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มก็ต้องไปรอวัดดวงจาก "ครม.ชุดใหม่" คงจะไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณา อีกแล้วในรัฐบาลชุดนี้
สายสีส้มบนทาง 2 แพร่งในมือ รบ.ใหม่?
หากทุกฝ่ายจะย้อนไปพิจารณา “ไทม์ไลน์” การเลือกตั้งและฟอร์มรัฐบาลใหม่ ที่คาดว่าต้องใช้เวลาจากนี้ไปอีก 4-5 เดือนเป็นอย่างน้อย หรือกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามารับไม้ต่อจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ต้องหลังเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 66 ไปแล้ว
เท่ากับว่า รฟม. จะต้องให้ BEM ยืนราคาประมูลโครงการนี้ไปเป็นปี หรืออาจมากกว่านั้น และยังต้องลุ้นต่อไปอีกว่า “รมว.คมนาคมคนใหม่” จะเห็นชอบและกล้านำเสนอผลประกวดราคา “อื้อฉาว” เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ( ครม.) หรือไม่ แม้จะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกข้างต้นไปแล้วก็ตาม
แต่กระนั้น ก็ยังคงมีคดีความคาราคาซังอยู่ที่ศาลอีกอย่างน้อย 3 คดี ประกอบด้วย 1. คดีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก กรณีแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเข้าเป็นผู้ร่วมลงทุน (RFP) และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แม้ศาลอาญาจะยกฟ้องโดยเห็นว่า การแก้ไข RFP เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ยื่นข้อเสนอราคารายใด และการยกเลิกการคัดเลือกฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC หรือกระทำนอกขอบเขตกฎหมาย แต่ BTSC ได้อุทธรณ์คำตัดสิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างขยายเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา
2. คดีศาลปกครองกลาง BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC ซึ่งแม้ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับใช้ EFP เนื่องจากเห็นว่าประกาศเชิญชวนฯ และ RFP เป็นไปตามกฎหมายแล้ว RFP เปิดกว้างมากขึ้น ไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิ หรือกีดกัน BTSC และการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 2 ศาลไม่รับคำร้องขอทุเลาของ BTSC แต่ยังรอการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
3. คดีศาลปกครองกลาง นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ โดยศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ แต่ได้อุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุด
นอกจากนี้ ยังมีคดีค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. อีกอย่างน้อย 2 คดี คือ 1. คดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนการสอบสวนคดี รฟม. แก้ไขทีโออาร์ TOR โครงการสายสีส้มพร้อมเอกสารประกอบ 1,940 หน้า ให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนต่อ เมื่อ 20 เมษายน 64 และ 2. คดีที่ฝ่ายค้านร่วมยื่นเรื่อง ป.ป.ช. ให้สอบ “พลเอกประยุทธ์ - นายศักดิ์สยาม” ในความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) ความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริต กรณีการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อ 29 ธันวาคม 65
ยังมีหนังสือร้องเรียนของเลขาธิการองค์กรต้านโกง ที่ร้องขอให้นายกฯ ตรวจสอบกรณีการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่มีปมส่วนต่างราคาสูงกว่า 68,000 ล้านบาท พร้อมทั้งยืนยันว่า ตัวแทนคณะผู้สังเกตุการณ์ที่เข้าไปร่วมสังเกตการณ์การประมูลนั้นถูกจำกัดบทบาท รับรู้แต่ในสิ่งที่รฟม.และคณะกรรมการ เปิดเผยเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก
ทั้งยังมี “ปมเขื่อง” ส่วนต่างข้อเสนอราคาระหว่าง BEM ที่เป็นผู้ชนะประมูลกับที่ BTS เคยยื่นข้อเสนอเอาไว้กับ รฟม. ในการประมูลครั้งแรกจำนวนกว่า 68,000 ล้าน ทั้งที่รายละเอียด เนื้อหาโครงการยังคงเดิมทุกกระเบียดนิ้ว จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมพากันตั้้งข้อสงสัยเงิน 30,000 ล้าน กระจายลงไปยังใครบ้างอีก
ด้วยเหตุนี้ หนทางเบื้องหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม. คาดหวังว่า จะนำเสนอต่อ รมว.คมนาคม เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป จึงกล่าวได้ว่าเต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงเหลือคณา ยิ่งหากการเมืองมีการ “เปลี่ยนขั้ว” ด้วยแล้ว!
เชื่อรัฐบาลใหม่ “ล้างไพ่-ประมูลใหม่”
แหล่งข่าวในวงการก่อสร้าง ได้ตั้งข้อสังเกตต่อโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มนี้ว่า เชื่อแน่ว่าหากการเมืองมีการเปลี่ยนขั้ว และหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่มาใหม่ ไม่ใช่คนของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แล้ว
มีโอกาสสูงมากที่รัฐบาลใหม่ จะ “ล้มประมูล - ล้างไพ่ใหม่” ตามมาอย่างแน่นอน!
เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ และรัฐบาลใหม่ คงไม่ยอมเสี่ยงเอาคอไปพาดเขียง กระเตงผลประมูลโครงการนี้ที่สวนกระแสความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะการที่ รฟม. ไม่สามารถจะชี้แจงความกระจ่างปมส่วนต่างราคาประมูลจำนวนกว่า 68,000-75,000 ล้านบาทได้
แม้จะอ้างว่าข้อเสนอของ BTS ในการประมูลครั้งแรก ยังไม่ได้รับการพิจารณา เพราะมีการยกเลิกประกวดราคาไปก่อน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อเสนอดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ปริมาณเนื้องาน และระบบก่อสร้างทุกอย่างยังคงเป็นไปตามกรอบเดิมทุกกระเบียดนิ้ว ส่วนที่แตกต่างนั้นเป็นเพียงการปรับเพิ่มคุณสมบัติด้านเทคนิค ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการกีดกันผู้เข้าร่วมประมูบางรายไม่สามารถจะเข้าร่วมประมูลได้
“เชื่อแน่ว่า หากมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองและพรรคการเมืองที่เข้ามากำกับดูแลกระทรวงคมนาคม และ รฟม. ไม่ใช่เครือข่ายการเมืองเดิมแล้ว โครงการนี้จะต้องมีการเปิดประมูลใหม่ตามมาอย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่ รมต.คมนาคมคนใหม่ จะยอมเอาตัวเข้าไปเสี่ยงกับการกระเตงผลประมูลเช้าสู่ที่ประชุม ครม.”
แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวทางการล้างไพ่-เปิดประมูลโครงการใหม่ ไม่ว่าจะแยก 2 สัญญาออกมาดำเนินการ หรือยังคงผนวกโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีส้มตะวันตก และสัมปทานเดินรถไฟฟ้า ตลอดทั้งสายเข้าด้วยกันดังเดิม หากมีการปรับปรุงเงื่อนไข ข้อกำหนดในเรื่องคุณสมบัติกลุ่มบริษัทเอกชนที่เข้าประมูล เปิดกว้างให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
หรือหากรัฐบาลและคมนาคมต้องการให้กำหนดอัตราค่าโดยสารราคาถูก 20-30 บาทตลอดสาย ตามที่พรรคการเมืองบางพรรคป่าวประกาศเอาไว้ ก็สามารถกำหนดเป็นเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคา (RFP) ใหม่ที่ว่านี้ได้
ทุกฝ่ายต่างก็คาดเดาได้ว่า ผลการประมูลที่จะออกมา ผู้ชนะประมูลจะขอสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐต่ำกว่าเดิมอย่างน้อย 50,000-70,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน “เอาแค่ว่า หากผลประมูลที่ได้ต่ำกว่าที่ BEM และ รฟม. ตั้งแท่นเสนอเอาไว้แค่ 40,000-50,000 ล้านบาท แค่นี้ก็เป็นการ “ตบหน้า” รัฐบาลชุดก่อนที่ดำเนินการเรื่องนี้เอาไว้อยู่แล้ว เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า หากรัฐบาลเข้ามาช้ากว่านี้ โครงการนี้จะต้องมีการถอนทุนทางการเมือง และปล้นภาษีประชาชนไปเอื้อแก่กลุ่มทุนทางการเมืองอย่างแน่นอน”
และยังเป็นการ “ตราหน้า” เผยให้เห็นทาสแท้ของรัฐบาลขี้ฉ้อก่อนหน้านี้โดยตรง ถึงเวลานั้น รมว.คมนาคม จะไล่เช็คบิลบอร์ด รฟม. และฝ่ายบริหาร รฟม. อย่างไร ก็เชื่อแน่ว่าประชาชนและสังคมพร้อมให้การสนับสนุนด้วยแน่
“แต่เชื่อเถอะว่า แค่ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ออกมาและเริ่มเห็นเค้าลางของรัฐบาลใหม่ รฟม. และบอร์ดชุดนี้ ก็คงช่วงชิงจังหวะออกประกาศยกเลิกการประมูล และเร่งปรับเปลี่ยนแนวทางการประมูลโครงการนี้ตามมาอย่างแน่นอน ปูเสื่อรอดูก็แล้วกัน”