อ่านบทสัมภาษณ์ของ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อกรณีที่ค่ายมือถือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” ดอดเข้าซื้อกิจการ 3BB และซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน JASIF
โดยบอร์ด กสทช. ได้รับทราบแผนการดำเนินการตามที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอ เมื่อวันก่อน (5 เมษายน) โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ การจัดตั้งคณะที่ปรึกษา การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในลักษณะเดียวกันกับการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ก่อนหน้านี้ คาดว่าอาจเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะใน 2-3 เดือนนี้
ทำเอาแวดวงสื่อสารโทรคมนาคม พากันวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ทั่นประธาน กสทช. จะผลาญงบกันเป็น 10 ล้าน 100 ล้านไปทำไมกัน ในเมื่อสุดท้ายแล้ว บอร์ด กสทช.ก็เคยบอกเองว่า ไม่มีอำนาจพิจารณา ขนาดกรณีควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ก่อนหน้าที่ขอควบรวมธุรกิจ ทั้งที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกันแท้ ๆ แต่หลังจาก กสทช. ตั้งอนุกรรมการศึกษาผลกระทบจากการควบรวม เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และจัดจ้างที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศ หมดเงินไปไม่รู้กี่สิบหรือกี่ร้อยล้าน
แต่สุดท้ายแล้ว กสทช. เอง กลับ “หักดิบ” รายงานผลศึกษาที่ว่าเหล่านั้น ด้วยการมีมติว่า การควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทคนั้น ไม่ถือเป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายที่ต้องดำเนินการตามประกาศ กสทช. ที่ว่าด้วยมาตรการป้องกันการผูกขาดปี 2549 และ กสทช.ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณา ทำได้แค่ “รับทราบ” รายงานการขอควบรวมกิจการเท่านั้น
ทั้งที่ในต่างประเทศนั้น กรณีดังกล่าวแทบไม่มีประเทศใดในโลกจะอนุมัติให้ดำเนินการได้ จนกลายเป็นว่าประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวในโลก ที่หน่วยงานกำกับดูแล ไฟเขียวการควบรวมกิจการที่ยังผลให้เหลือผู้ประกอบการมือถือในตลาดจาก 3 รายเหลือ 2 รายเท่านั้น กลายเป็นตลาดผูกขาดโดยผู้ประกอบการพียง 2 ราย Duopoly ไปโดยปริยาย
แล้วกรณีเอไอเอสดอดเข้าซื้อกิจการ 3BB แตกต่างกันตรงไหน? หรือว่าตอนนี้ กสทช.กลับมามีอำนาจที่จะพิจารณาขึ้นมาแล้ว เป็นอำนาจที่เสกขึ้นมาได้ดั่งใจขึ้นมา จึงทำให้กรณีการซื้อกิจการดังกล่าวกำลังถูกตีความว่า ไม่เหมือนกรณีการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ก่อนหน้า
คงแปลกพิลึก หากบทสรุปสุดท้ายออกมาว่า กรณีเอไอเอสที่รุกคืบเข้าซื้อกิจการ 3BB โดยตรงนั้น แตกต่างจากกรณีควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ที่ไม่ถือเป็นการซื้อหุ้น หรือเทคโอเวอร์กิจการในบริการประเภทเดียวกัน จึงไม่ถือว่าเข้าข่ายที่ กสทช. จะมีอำนาจพิจารณาได้ ผิดกับกรณีการซื้อกิจการ 3BB ของเอไอเอส ที่ถือเป็นการเข้าซื้อกิจการในบริการประเภทเดียวกันที่ กสทช. ต้องพิจารณาว่าผูกขาดหรือไม่?
ทั้งที่บริการอินเทอร์เน็ต โดยลักษณะพื้นฐานหาได้มีการผูกขาดโดยคลื่นความถี่ใดๆ ผู้ประกอบการรายใดที่คิดว่ามีศักยภาพสามารถที่จะเดินเข้าไปขอ “ไลเซ่นส์” ประกอบการจาก กสทช. เมื่อไหร่ก็ทำได้ แถมยังมีผู้ให้บริการในประเทศอีกเป็นกุรุด มีการแข่งขันด้านราคาห้ำหั่นกันชนิดหายใจรดต้นคอกันอยู่แล้ว
ขืนได้ข้อสรุปแบบนี้ออกมา คงสนุกพิลึกกับมหกรรม “ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด” ของหน่วยงาน แต่หากจะลงเอยในรูปแบบเดิมที่ กสทช. ไม่มีอำนาจจะพิจารณาได้ ทำได้แค่การนำมาตรการบรรเทาผลกระทบเพื่อประโยชน์สาธารณะมาใช้ ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาทันที “แล้วจะผลาญงบกันเป็น 100 ล้านกันไปเพื่อ....?”.... จริงไม่จริง!!!