กสทช. ฉาวไม่เลิก คราวนี้คิว “ว่าที่เลขา กสทช.” ทิ้งทวน-ละเลงงบกองทุนสามล้อถูกหวย USO จ้างบริษัทเกณฑ์คนชายขอบมาอบรมความรู้ไอทีในยุคดิจิทัล 5 ภูมิภาค วงเงินร่วม 1.8 พันล้าน สุดอึ้ง! แม้แต่บริษัทค้าคอมพ์-ขายซอฟต์แวร์เกมยังได้งานประมูล
ทำเอาแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมได้แต่ “อึ้งกิมกี่” กับผลงานอื้อฉาวล่าสุดของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประกวดราคา “โครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัลใน 5 ภูมิภาค” ภายใต้ภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (กองทุน USO) หรือโครงการจ้างอบรม IT คนชายขอบวงเงินรวม 1,796.42 ล้านบาท
ประกอบด้วย โซนที่ 1 (ภาคเหนือ) ผู้ชนะการประกวดราคา คือ กิจการค้าร่วม TK-Chill (ทีเคชิล) โดยเสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 496.16 ล้านบาท , โซนที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บลู โซลูชั่น จำกัด โดยเสนอราคา 345.04 ล้านบาท , โซนที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง) ผู้ชนะประมูล คือ กิจการค้าร่วม GT (จีที) โดยเสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 345.05 ล้านบาท , โซนที่ 4 (ภาคกลางและภาคตะวันออก) ผู้ชนะประกวดราคา ได้แก่ บริษัทอินโฟ ซิสเต็ม จำกัด เป็นเงินทั้งสิ้น 316.96 ล้านบาท และโซนที่ 5 (ภาคใต้) ผู้ชนะการเสนอราคา คือ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เป็นเงินทั้งสิ้น 293.21 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมทั้ง 5 ภูมิภาคดังกล่าว กำหนดให้ผู้รับจ้างดำเนินการอบรมกลุ่มเป้าหมาย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายขอบและพื้นที่ห่างไกลเทคโนโลยี ขาดทักษะและความคุ้นเคยในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เพื่อพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล โดยกำหนดเป้าหมายการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ชายขอบไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน
*สุดอึ้ง! บริษัทขายคอมพ์-ซอฟแวร์คว้างาน
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่รายงานการสืบค้นผู้ชนะประมูลโครงการนี้จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยระบุว่า ผู้ชนะประมูลจำนวน 3 ราย อันประกอบด้วย บริษัทบลู โซลูชั่น จำกัด ได้แจ้งประเภทลักษณะธุรกิจเอาไว้เป็นการประกอบกิจการคอมพิวเตอร์ รวมทั้งอุปกรณ์และอะไหล่
ขณะบริษัท อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITL แจ้งประเภทธุรกิจเป็นกิจการโทรคมนาคมแบบใช้สายอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้จัดประเภทไว้ และแจ้งลักษณะธุรกิจล่าสุดให้บริการโทรคมนาคม โดยลงทุนก่อสร้างเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงทั่วประเทศ ส่วนบริษัท อินโฟซิสเต็ม จำกัด แจ้งประเภทธุรกิจล่าสุด คือร้านขายปลีกเครื่องเล่นวีดีโอเกมและซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ส่วนอีก 2 บริษัทคือ กิจการร่วมค้า TK-Chill และกิจการร่วมค้า GT นั้น ไม่ได้แจ้งประเภทธุรกิจใดๆ เอาไว้
*แฉ “เงินทอน” เอื้อทุนการเมืองรับเลือกตั้งหรือไม่?
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเร่งรัดดำเนินโครงการนี้ ที่อ้างว่าเป็นโครงการเดิมที่ได้รับอนุมัติจาก “คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ” (บอร์ด กทปส.) ตั้งแต่ปี 65 โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) หรือกองทุน USO แต่เพิ่งมาอนุมัติเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ก่อนที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. ที่ทำหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. จะยื่นใบลาออกเพื่อสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการ กสทช. ในวันรุ่งขึ้น
ทั้งนี้ มีรายงานว่า บริษัทเอกชนที่ชนะประมูลโครงการนี้ ล้วนมีความใกล้ชิดกับกลุ่มทุนการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ โดยแต่ละรายที่ชนะประมูลโครงการในแต่ละโซนนั้น มีกระแสข่าวระบุว่า จะต้องเจียด “งบพิเศษ” ให้แก่พรรคการเมืองใหญ่ถึงโซนละร่วม 100 ล้านบาทหรือไม่ ผ่านสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่รายนี้ จนถึงขั้นที่สามารถยืมมือหัวหน้าพรรคการเมืองรายนี้ให้ใช้กลไกของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและมือกฎหมายของรัฐให้เข้ามา “ผ่าทางตัน” เส้นทางการควบรวมกิจการของยักษ์สื่อสารโทรคมนาคมอย่างบริษัททรู-และดีแทคก่อนหน้านี้ได้
“แม้จะต้องจัดงบพิเศษดูแลพรรคการเมืองเป็น 100 ล้าน แต่ก็ยังมีกำไร เพราะโครงการฝึกอบรมในลักษณะนี้ แทบจะไม่มีใบเสร็จ และไม่สามารถจะตรวจสอบหรือวัดผลสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการได้ ไม่ต่างจากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งตรวจสอบพบการฝึกอบรมทิพย์ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้”