กมธ.ไอซีที วุฒิสภา ถกใบอนุญาตดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ หวังเพิ่มทางเลือกบริการประชาชน ลดอุปสรรค ขณะที่เอกชนไทยห่วงเหลื่อมล้ำค่าใบอนุญาต 2 ล้านบาท เทียบกับเอกชนไทย 100 ล้านบาท
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม กมธ.ไอซีที หารือเกี่ยวกับการประชุมรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ต่อการแก้ไขประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการอนุญาตใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเพื่อให้บริการในประเทศ ลังจากประกาศฉบับเดิมบังคับใช้มาแล้ว 3 ปี เมื่อ กสทช. เปิดรับฟังความเห็นจึงมีข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายเสนอให้ทำการแก้ไขปรับปรุง ที่ประชุม กมธ.ไอซีที วุฒิสภา จึงมีความเห็นหลากหลายต่อการแก้ไขประกาศดังกล่าว
สำหรับประเด็นการหารือแก้ไขปรับปรุงประกาศที่สำคัญ อาทิ คุณสมบัติของผู้ขอรับอนุญาต มีข้อเสนอเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติ แนะจับตา อีลอน มัสก์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink หนึ่งในหน่วยงานของ SpaceX บริษัทของ อีลอน มัสก์ เปิดให้บริการในญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกของเอเชีย อาจขยายเข้ามายังไทย ขณะที่ผู้ให้บริการดาวเทียมในประเทศ ทั้งดาวเทียม ไทยคม และบริษัท NT ต้องจ่ายค่าประมูล 100 ล้านบาท ส่วนการให้บริการดาวเทียมต่างชาติ มีค่าใบอนุญาต 2 ล้านบาท แม้จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแก้ไขสิทธิที่ได้รับอนุญาตใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม เพื่อให้มีตัวแทนเครือข่ายประเทศมากกว่า 2 ราย ควรมีเงื่อนไขกำกับดูแลการใช้ดาวเทียมต่างชาติ สถานีเชื่อมโยงเครือข่าย (Gateway หรือ Uplink Station) ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้งาน และมีผู้รับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหาย
สำหรับการใช้งานทั่วไป อายุ 5 ปี ค่าใบอนุญาต 2 ล้านบาท ค่ายื่นคำขอ 10,000 บาท ขออนุญาตใช้งาน 1 ปี ค่ายื่นคำขอ 5,000-10,000 บาท และยังเสนอให้การใช้ดาวเทียมต่างชาติบนอากาศยานและบนเรือ ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติ หรือบนรถไฟความเร็วสูง การแก้ไขประกาศ กสทช. ยังมีอีกหลายขั้นตอน เมื่อรับฟังความเห็นสาธารณะ เสนอบอร์ด กสทช. พิจารณา เพื่อประกาศบังคับใช้ในช่วงเดือนตุลาคม 2566