เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามนโยบายการเงินและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างใกล้ชิด
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 ถึง 4.1) ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียและกลุ่มสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 29.5 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 164.6 ต่อปี และคาดว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 255.9 ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับด้านอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่า การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 ถึง 4.6) ตามรายได้ภาคประชาชนที่ฟื้นตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงช่วยให้การบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 ถึง 2.8) จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี ผลของอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงในช่วงต้นปี 2566 ทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.0 ถึง 0.0) นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าหดตัวที่ร้อยละ -2.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.6 ถึง -1.6) และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 ถึง 3.1) ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 ถึง 3.1) ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 1.0 – 3.0 เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่ลดลง ทำให้แรงกดดันด้านอุปทานจากต้นทุนพลังงาน และราคาน้ำมันคลี่คลายลง สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมีทั้งปัจจัยสนับสนุน อาทิ 1) ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวทุกสัญชาติที่มีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ 2) สถานการณ์เงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ส่งผลบวกต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น และปัจจัยเสี่ยง อาทิ 1) ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และ 2) ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ