“น้ำลด ตอผุด ขนานแท้ บทสรุปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ความบกพร่องที่คลังต้องเอาไปตัดคอ
ออกกฎหมายโดยไม่ดูข้อเท็จจริง หวังภาษีสูงเจอค่าเสื่อมอาคารที่ดินกลบภาษีหดวูบ เตะหมูเข้าปากหมา..
เป็นอีกภาษีที่เรียกได้ว่า “บ้อท่า…เตะหมูเข้าปาก(สุนัข) โดยแท้ !”
…………………
นั่นคือ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” (พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562) ที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังดั้นเมฆนำออกมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดินเมื่อปี 2563 ในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา รัฐบาลปฏิรูปที่โอ่นักโอ่หนาว่าไม่เคยคดโกง และมีผลงานเหลือคณามากกว่ารัฐบาลชุดใดในประวัติศาสตร์ จนสามารถผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อวางรากฐานจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้อย่างแท้จริง
อึ้ง! ภาษีที่ดินและสิ่งปลูก “น้ำลด ตอผุด”
แต่วันนี้กลับกำลังเผชิญกับปรากฎการณ์ “น้ำลด ตอผุด” จากผลพวงของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ไม่เพียงจะทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่าง กทม.หืดจับ หายใจไม่ทั่วท้องจากการจัดเก็บภาษีได้ “ต่ำลง” ไม่เป็นไปตามคาดการณ์แล้ว ยังทำเอาประชาชนคนเดินดินร้องแรกแหกกระเชอไปทั่วทุกสารทิศ
แถมยังกลายมาเป็น “เครื่องมือสำคัญ” ที่เปิดช่องให้ข้าราชการหากินกับการ “รีดส่วย” จากการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กลายเป็นข่าวครึกโครมไปพักใหญ่ก่อนหน้าเมื่อปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป สนธิกำลังกันเข้ารวบเจ้าหน้าที่ระดับสูงในระดับเขตของ กทม.รายหนึ่ง ที่ดำเนินการเรียกรับผลประโยน์จากการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จนสามารถทลายขบวนการรีดส่วยได้รับร้อยล้านบาท
สะท้อนให้เห็น “ไส้ใน” ที่แท้จริงของกฎหมายฉบับนี้ ที่ไม่ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่แท้จริงไปแม้แต่น้อย
ล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนถึงข้อเสนอของ กทม. ที่มีต่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยขอให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งทบทวนและแก้ไขภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังเข้าสู่ช่วงปฏิบัติเต็มสูบอยู่ในเวลานี้
โดยระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า เดิม กทม. จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยคิดจากรายได้ของกิจการ 12.5% เพื่อมาเป็นรายได้ของเขต แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะคิดตามมูลค่าที่ดิน ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ที่มีรายได้มากจะต้องเสียภาษีมาก แต่กลับพบว่า เมื่อนำมาใช้จริงกลับไม่ได้เป็นไปตามนั้น รายได้จัดเก็บภาษีของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตพญาไท ที่เดิมเคยเสียภาษีโรงเรือนฯ 10.7 ล้านบาท แต่เมื่อเปลี่ยนมาจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ กลับเสียภาษีเพียง 1.08 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า ภาษีลดลงถึง 10 เท่า
หรืออย่าง อาคารสำนักงานแห่งหนึ่งในเขตพญาไท ที่เดิมเสียภาษี 11.49 ล้านบาท เพราะคำนวณจากค่าเช่าภายในสำนักงาน แต่เมื่อคิดภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 3.72 ล้านบาทเท่านั้น เพราะคิดตามมูลค่าที่ดิน รวมถึงยิ่งเป็นอาคารเก่ามีค่าเสื่อมเยอะ ทำให้มูลค่าลดลงอีก
ในขณะที่ห้องเช่าซึ่งเป็นอาคาร เดิมเก็บได้ 4.35 ล้านบาท ภาษีใหม่เก็บได้เพียง 7.68 หมื่นบาท รายได้หายไป 4.28 ล้านบาท เพราะเจ้าของได้ย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในอาคารห้องเช่า จึงกลายเป็นที่อยู่อาศัยทำให้เสียภาษีในอีกอัตราหนึ่ง ซึ่งเขตในตัวเมืองมีการจัดเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะในเมืองมีสถานประกอบการเยอะ แต่เขตในชานเมืองเก็บภาษีได้มากขึ้น เพราะชานเมืองที่ดินหลายแปลงเป็นที่คนอยู่อาศัย
“แต่ก่อนมีการคิดห้างนี้ขายของเท่าไหร่ ค่าเช่าที่เท่าไหร่ เก็บ 12.5% แต่พอเปลี่ยนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปุ๊ป ไม่คิดตามรายได้แล้ว คิดตามมูลค่าที่ดินแปลงนี้เท่าไหร่ อาคารเก่าก็จะมีค่าเสื่อม สรุปเป็นภาษีที่ดินฯ ลดลงไปเหลือแค่ 10% เอง” นายชัชชาติกล่าว และว่า “ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เขตพญาไท ที่ก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี สามารถจัดเก็บได้ประมาณ ปีละ 300 ล้านบาท แต่เมื่อเปลี่ยนรูปแบบภาษีทำให้จัดเก็บได้ลดลงเหลือประมาณ 200 ล้านบาทเท่านั้น กลายเป็นว่าคนที่มีที่ดินพร้อมบ้านพัก กลับกลายเป็นว่าอาจจะต้องเสียภาษีเยอะขึ้น ทั้งที่ไม่ได้สร้างรายได้ บางคนถือที่ดินเปล่าที่พ่อแม่ให้มาส่งให้ลูกหลาน แต่ก่อนไม่ต้องเสียภาษีเพราะไม่มีรายได้ แต่พอมาเป็นภาษีที่ดินฯ ใหม่ต้องจ่ายทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย จึงต้องฝากถึงรัฐบาลและสภาชุดใหม่ ไปช่วยทบทวนว่าการทำแบบนี้มีผลกระทบอย่างไร เป็นจุดที่เราจะลดความเหลื่อมล้ำได้จริงไหม”
บทสะท้อนที่ผู้ว่า กทม.ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่จัดเก็บภาษีตามกฎหมายข้างต้น ทำให้เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายนี้อีกครั้ง เหตุใดการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังผลักดันมานับทศวรรษถึงลงเอยด้วยความล้มเหลว กลับตาลปัตรไปได้เช่นนี้
ย้อนรอย กม.ภาษีที่ดินฯ
ในหลักการดังที่ปรากฏอยู่แนบท้ายพระราชบัญญัติฯ นั้น ได้ระบุวัตถุประสงค์ในการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้ว่า เพื่อปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้มีความทันสมัย เป็นสากลเช่นเดียวกับนานาประเทศและแก้ปัญหาโครงสร้างภาษีเดิม กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพิ่มความเป็นอิสระและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ช่วยให้ท้องถิ่นมีงบประมาณพอเพียงในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญในระยะยาว
โดยกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 เป็นกฎหมายที่มาแทนที่ภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งซ้ำซ้อนกัน และกำหนดประเภทของภาษีที่ดิน 2566 แบ่งประเภทที่ดินที่ต้องเสียภาษีไว้ 4 รายการ ประกอบด้วย 1. ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม 2. ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย 3. ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม และ 4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ตามอัตราที่กำหนด
โดยในช่วงทำคลอดกฎหมายฉบับนี้ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ออกมายืนยันนั่งยันมาโดยตลอดว่า การออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นตำนานมากว่า 11 รัฐบาล โดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน (รัฐบาลปฏิรูปของพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา) ได้ดำเนินการผลักดันพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างจริงจัง ซึ่งเมื่อมีผลบังคับใช้จะช่วยให้การจัดเก็บรายได้มีความเป็นธรรม และให้ท้องถิ่นมีงบประมาณพอเพียงในการพัฒนาพื้นที่ในระยะยาว
“พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นตำนานมากว่า 11 รัฐบาล โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2563 ถือเป็นการปิดตำนานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยืดเยื้อมานาน” นายวิสุทธิ์กล่าวและว่า หัวใจของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคือเพื่อปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้มีความทันสมัย เป็นสากลเช่นเดียวกับนานาประเทศ และแก้ไขปัญหาโครงสร้างภาษีที่ดิน โดยให้ผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าสูงมีภาระต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมและช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการประเมินภาษี และกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ มีกระจายการถือครองที่ดิน ลดปัญหาการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร
นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเป็นอิสระและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้ อปท. สร้างความเข้มแข็งและโปร่งใสในการบริหารหารคลังของ อปท. และช่วยให้ท้องถิ่นมีงบประมาณพอเพียงในการพัฒนาพื้นที่ ทั้งการลงทุนและจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพต่อประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเจริญในระยะยาว
ก่อนหน้า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบให้มีการปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566 สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้รับการลดภาษีตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ให้ลดภาษีในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ (อาทิ โรงพยาบาล ร้านทำผม ร้านอาหาร ร้านล้างรถ และห้างสรรพสินค้า)
2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดภาษี 50% ตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 เมื่อคำนวณลดภาษีในอัตรา 50% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสียแล้ว ให้ลดภาษีลงอีกในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่ลดไปแล้ว 50% (ตัวอย่างกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้รับการลดภาษี 50% ได้แก่ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เฉพาะทรัพย์สินที่บุคคลดังกล่าวได้มาทางมรดกและได้จดทะเบียนแล้วก่อนวันที่ 13 มีนาคม 2562)
นอกจากนี้ สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนดให้ 2 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปีภาษี 2563-2564 ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษีที่จะใช้อยู่ในปัจจุบันจะครบกำหนดระยะเวลาในปีภาษี 2564 ในวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. เพื่อเป็นการกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปีภาษี 2565-2566 โดยคงอัตราภาษีแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ที่ดินเพื่อการประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.01-0.1%
2. ที่อยู่อาศัย แบ่งเป็น
2.1 บ้านหลังหลัก เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี มูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.03-0.1%
2.2 บ้านหลังหลัก เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี มูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.02-0.1%
2.3 บ้านหลังอื่น ๆ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.02-0.1%
3. การใช้ประโยชน์อื่น หรือใช้เชิงพาณิชย์ เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม ร้านอาหาร พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.3-0.7%
4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีที่ดินว่างเปล่าที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.3-0.7%