ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ประธานฝ่ายไทย และ Mr. Park Tae Seon ผู้อำนวยการบริหารการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร หน่วยงานพัฒนาชุมชนชนบทแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Rural Community Corporation : KRC) ประธานฝ่ายเกาหลี พร้อมคณะ ร่วมรับฟังผลการดำเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อนจะลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างอุโมงค์ช่วงแม่แตง-แม่งัด ตามลำดับ
สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำช่วงที่ 1 จากลำน้ำแม่แตงไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล และก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำช่วงที่ 2 จากอ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ ไปลงอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำแม่กวงฯ ให้อยู่ในเกณฑ์เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำ ให้กับพื้นที่ด้านท้ายตลอดทั้งปี โดยปริมาณน้ำที่ผันไปจากลำน้ำแม่แตง จะเป็นปริมาณน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน ที่ในบางปีจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม การนำน้ำส่วนเกินดังกล่าวไปใช้จึงช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดด้วย
ทั้งนี้ อุโมงค์ผันน้ำมีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 49 กิโลเมตร โดยอุโมงค์ช่วงที่ 1 (ช่วงแม่แตง-แม่งัด) จะมีความยาวประมาณ 26 กิโลเมตร ผันน้ำได้ปีละประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปเก็บไว้ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จากนั้นปริมาณน้ำดังกล่าวจะรวมกับปริมาณน้ำที่เกินความต้องการของเขื่อนแม่งัดฯ อีกปีละประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งผ่านอุโมงค์ช่วงที่ 2 (ช่วงแม่งัด – แม่กวง) ที่มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร ไปเติมให้กับเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้เขื่อนมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำสนับสนุนพื้นที่ด้านท้ายได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
ปัจจุบันโครงการฯมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 76 หากก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ในลุ่มน้ำกวง ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำในช่วงฤดูฝนของพื้นที่ชลประทานด้านท้ายอ่างฯได้ประมาณ 175,000 ไร่ และในฤดูแล้งยังส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้มากขึ้นจากเดิม 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้นจากเดิมปีละประมาณ 13.31 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 49.99 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่สำคัญช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและลดความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงได้อีกกว่า 14,550 ไร่ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่โดยรอบโครงการฯให้มีความมั่นคงด้านน้ำ อันจะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน