ข่าวดังจากนอกประเทศ? เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา กรณีทางการจีน “ตีกลับ!” ทุเรียนนำเข้าจากประเทศเวียดนาม “ล็อตใหญ่” รวมกันหลายพันตัน หลังจากพบว่า...ทุเรียนจากเพื่อนบ้านอาเซียนของไทย มีคุณภาพมาตรฐานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งดิบและเน่าเสีย แถมรสชาติก็ไม่ถูกปากผู้บริโภคชาวจีน ที่พร้อมจ่ายแพงก็ให้ได้กินทุเรียนคุณภาพสูงนำเข้าจากประเทศไทย
…..
จากกระแสข่าวที่ว่านี้ ได้สร้างความไม่สบายใจต่อหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มผู้ส่งออกทุเรียนฯ และเกษตรกรผู้เพาะปลูกทุเรียน เป็นอย่างมาก ด้วยเกรงว่า...ทุเรียนล็อตที่ถูกตีกลับจากประเทศจีน และล็อตใหม่ที่ยังส่งออกไปขายในประเทศจีนไม่ได้ของทุเรียนเวียดนาม
อาจหวนกลับเข้ามาในประเทศไทย เพื่อทำการ “สวมตอ” แปลงกายเป็นทุเรียนไทย ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
หากเป็นจริง! ปรากฏการณ์นี้... ไม่เพียงจะสร้างความเสื่อมเสียแก่ภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย หากยังอาจทำให้ทุเรียนไทย ถูกเหมารวมเป็นทุเรียนไร้คุณภาพมาตรฐานและมีรสชาติที่ย่ำแย่
กระทบการส่งออกทุเรียนที่นำรายได้เงินตราต่างประเทศเข้าไทยปีละกว่า 1 แสนล้านบาทไปด้วย
เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการป้องกันการลักลอบขนสินค้าเถื่อน! ไม่ว่าจะเป็น...สินค้าอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม อย่าง...กรมศุลกากร ที่มี “ด่านศุลกากร” หลายสิบแห่ง...ประจำตามแนวตะเข็บพรมแดนทั่วประเทศ คอยเป็นหูตาตรวจสอบและป้องการการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายเหล่านั้นเข้ามายังราชอาณาจักรไทย
ล่าสุด เมื่อช่วงวันที่ 21-23 มิถุนายนที่ผ่านมา นายพัชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้รับการแจ้งเตือนถึงมหันตภัย...การลักลอบขนทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าไทยผ่านแนวพรมแดนทางธรรมชาติ ด้วยเหตุเดียวกับที่ “สำนักข่าวเนตรทิพย์” เขียนเอาไว้ข้างต้น
จากนั้น จึงได้วางสายงานกำลังเจ้าหน้าที่ ประสานงานกับ “สายลับ” คอยเกาะติดพฤติกรรมการลักลอบขนทุเรียนคุณภาพต่ำ...หนีภาษีเข้าไทย
กระทั่ง เมื่อช่วงสายวันที่ 23 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ศุลกากร นำโดย นายศศิน ปงรังษี ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 นายประพันธ์ จันทร์ไทยศรี นายด่านศุลกากรอรัญประเทศ ได้ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรลงพื้นที่เฝ้าระวังการลักลอบขนส่งสินค้าเกษตรที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร บริเวณถนน 317 (หน้าโรงพยาบาลวังสมบูรณ์) ตำบลวังสมบูรณ์ อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว พบรถบรรทุก 6 ล้อ มีลักษณะน่าสงสัย
จึงทำการขอตรวจค้น พบทุเรียนสด มีถิ่นกำเนิดต่างประเทศ ไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานแสดงการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จำนวน 8,420 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1,178,800 บาท
กรณีดังกล่าว ถือเป็นความผิดตาม มาตรา 242 และ 246 ประกอบมาตรา 252 เจ้าหน้าที่จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ยึดของดังกล่าวพร้อมนำตัวผู้ต้องหาและยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดส่งด่านศุลกากรอรัญประเทศ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เรื่องเหมือนจะจบลงแบบง่ายๆ แต่เพราะงานนี้ มี “ขาใหญ่” ที่ทำงานกันเป็นขบวนการและมีเดิมพันที่สูงมาก นอกจากจะไม่จบง่ายๆ งานนี้...ยังมีการลากเรื่องให้ลงลึก สร้างข้อมูลเท็จและข่าวปลอม! ผ่านสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะช่องข่าวทีวีชั้นแนวหน้าของไทย ไม่ว่าจะเป็น... รายการเรื่องเล่าเช้านี้ สถานีโทรทัศน์สีช่อง 3, ช่อง PPTV และอีกหลายๆ ช่อง
แถมนำไปขยายผลผ่านช่องทางออนไลน์อีกหลายมากมาย..
ชูธง! ทุเรียนล็อตดังกล่าว...เป็นทุเรียนไทย โดย “ล้ง” จากจังหวัดจันทบุรี ได้ติดต่อขอซื้อทุเรียนจากจังหวัดศรีสะเกษ (ผู้ผลิตทุเรียนภูเขาไฟแห่งเดียวของไทย) และมีเอกสารยืนยันการซื้อขาย เพื่อนำทุเรียนไปสมทบกับทุเรียนที่รับซื้อจากภายในจังหวัดจันทบุรีและบางส่วนจากจังหวัดระยอง เตรียมการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ตามออเดอร์ที่มีก่อนหน้านี้
เป้าหมาย คือ หวังจะ “ตีกลับ” เล่นงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ทำการเข้าจับกุม สวมตอเป็นทุเรียนไทยในครั้งนี้ รวมถึงผู้ใหญ่ในกรมศุลกากรเลยทีเดียว
แถมยังวางตัวละครคนสำคัญ “มิสเตอร์ X” คอยเป็นตัวชง...สร้างสตอรี่และขยายผลจนเป็นเรื่องเป็นราวเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ
ร้อนถึงอธิบดีกรมศุลกากร ต้องจัดให้มีการแถลงข่าวตอบโต้กระบวนการนี้ เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา
อธิบดีฯ พชร พร้อมด้วยทีมอำนวยการในการจับกุมทุเรียนนำเข้าล็อตนั้น คือ นายศศิน และนายประพันธ์ พร้อมหน้าแถลงข่าวตอบโต้ทันที ตอบโต้ในทุกปมที่ถูกป้ายสี...
เริ่มจากทุเรียนล็อตนั้นมาจากไหน? สิ่งที่..ผู้อ้างตนเป็นเจ้าของทุเรียนยืนยันว่าเป็นทุเรียนไทยจากจังหวัดศรีสะเกษนั้น ข้อเท็จจริงคือ “สายลับ” ของกรมศุลกากร ได้ทำการบันทึกภาพการลักลอบขนทุเรียนจากประเทศกัมพูชา แต่เพราะพื้นที่การขนถ่ายทุเรียนหนีภาษีอยู่ในเขตพื้นที่ทับซ้อน เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงต้องสะกดรอยตามจากจุดขนถ่าย กระทั่งตามไปจับกุมได้ในจุดที่ตกเป็นข่าวข้างต้น
หลังการจับกุม คนขับรถในฐานะผู้รับจ้างขน และผู้ที่อ้างเป็นเจ้าของทุเรียน ต่างรับสารภาพและลงบันทึกประจำวันในคำให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภอ.คลองลึก จังหวัดสระแก้ว
อีกหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่า รถบรรทุกคันดังกล่าววิ่งวนเวียนอยู่ไปมาระหว่างจังหวัดสระแก้วและจังหวัดจันทบุรี โดยไม่ได้ไปรับทุเรียนจากจังหวัดศรีสะเกษแต่อย่างใด นั่นก็คือ “จีพีเอส” ที่ “สายลับ” ของกรมศุลกากรได้เฝ้าติดตามเส้นทางการขับขี่รถบรรทุกคันดังกล่าว
นี่คือ จุดโพละแตก! ที่ทำทุกหลักฐานปลอมของกระบวนการนี้ ถูกตีตก! ในทันที
สำหรับประเด็น “ของกลาง” คือ ทุเรียนหนีภาษีจากประเทศเพื่อนบ้าน หายไปเกือบหมดนั้น อธิบดีกรมศุลการ อธิบายว่า...เนื่องจากเป็นสินค้าเกษตรและมีอายุเน่าเสียได้ง่าย ดังนั้น ทันทีที่เมื่อตรวจพบว่าทุเรียนล็อตที่ได้จับกุมไม่มีสารปลอมปนอันตรายเจือปน จำเป็นจะต้อง “ตัดขายปันส่วน” ให้กับหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานนอกสังกัดที่เป็นหน่วยงานรัฐ โดยรายได้ทุกบาททุกสตางค์จะต้องส่งมอบให้เป็นเงินของแผ่นดิน ซึ่งกรมศุลกากรก็ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ครบถ้วน
ไม่ว่าเรื่องนี้...จะจบลงอย่างไร? ในเมื่อหลักฐานมันบ่งชี้ชัดเจนขนาดนี้ แต่ขบวนการนี้...ยังไม่จบ! และพร้อมต่อสู้ เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ฯชุดจับกุม และกรมศุลกากร ซึ่งกรมศุลกากรเอง โดย อธิบดีฯพัชร ก็ยืนยันว่า...พร้อมสู้ และส่งเรื่องดังกล่าวให้เป็นคดีความอาญา พร้อมจะเอาผิดขบวนการลักลอบนำเข้าทุเรียนผิดกฎหมาย เพื่อหวัง “สวมตอ” เป็นทุเรียนไทยให้ถึงที่สุด!
“ที่อ้างในภายหลังว่าทุเรียนดังกล่าวได้รับซื้อมาจาก จ.ศรีสะเกษนั้น กรมศุลกากรได้ตรวจสอบเส้นทางผ่านระบบ GPS ของรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว พบว่าในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน รถยนต์คันดังกล่าวมิได้มีการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ แต่ได้มีการใช้รถอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและสระแก้วเท่านั้น” อธิบดีกรมศุลกากร ย้ำและยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้เข้าจับกุมโดยสุภาพ มิได้มีการขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด และเจ้าของสินค้าก็มาแสดงตนยอมรับด้วยตนเอง อีกทั้ง ยังได้มีการบันทึกคำให้การโดยสมัครใจตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ รวมถึงผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าของทุเรียนได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภอ.คลองลึก โดยมิได้โต้แย้งการจับกุม หรือการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางเท่านั้น” อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวและย้ำว่า
การให้ข้อมูลอันเป็นเท็จแก่เจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นคดีอาญาที่มีความผิดร้ายแรง มากกว่าการลักลอบนำเข้าทุเรียนผิดกฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ กรมศุลกากรได้ส่งเรื่องต่อไปให้เจ้าพนักงานสอบสวน สภอ.คลองลึก รับไปดำเนินการเป็นคดีอาญาต่อไป โดยมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 4 เท่า หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งกรมศุลกากรยังคงเป็นโจทก์ฟ้องร้องในคดีนี้
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังจะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับสื่อมวลชนและใครก็ตามที่มีเจตนาและจงใจทำการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ และสร้างความเสียหายต่อภาพของกรมศุลกากร เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างและยืนยันถึงความถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรจนถึงที่สุด
นายพชร ย้ำว่า “สิ่งที่กรมศุลกากรรู้สึกเป็นห่วงอย่างมาก คือ การลักลอบนำเข้าทุเรียนผิดกฎหมายและมีคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อน ที่แอบนำเข้ามา “สวมตอ” เป็นทุเรียนไทย แล้วนำส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย ต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยโดยรวม จึงต้องเร่งดำเนินการป้องกันและปราบปราม รวมถึงจับกุมอย่างหนัก เพราะเกรงว่าอาจมีการลักลอบนำเข้าทุเรียนล็อตใหม่มาตามแนวตะเข็บชายกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดพื้นที่การดูแลของด่านศุลกากรอรัญประเทศ ที่มีระยะทางมากว่า 165 กม.”
ถึงบรรทัดฐานนี้ สิ่งที่ “สำนักข่าวเนตรทิพย์” รู้สึกเป็นห่วงอย่างมากต่อกรณีดังกล่าว ก็คือ งานนี้...มันไม่ใช่แค่ “สวมตอ” เป็นทุเรียนไทย แต่ทว่าแก๊งขนทุเรียนเถื่อนกลุ่มนี้ กลับเล่นใหญ่ “สวมตอ” เป็น “ทุเรียนภูเขาไฟ” ทุเรียนชื่อดังและมีราคาแพง จากจังหวัดศรีสะเกษ เสียอีกด้วย
หากปล่อยให้การลักลอบนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกรณี มีการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศุลกากร ระบุว่า น่าจะเป็นทุเรียนเวียดนามที่ถูกตีกลับจากประเทศจีนบางส่วน รวมกับทุเรียนล็อตใหม่ที่ส่งออกไปขายยังประเทศจีนไม่ได้
ทั้งนี้ แม้ประเทศเวียดนามจะมีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกทุเรียนในปริมาณที่เยอะมาก แต่คุณภาพยังต่ำกว่าทุเรียนของไทย แม้จะเป็นทุเรียนสายพันธุ์หมอนทองที่แอบลักลอบส่งออกต้นพันธุ์จากไทยไปเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ก็ตามที
หากเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ไม่เร่งดำเนินการจับกุมและขยายผลอย่างจริงจัง ปล่อยให้ทุเรียนคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขาย หรือ “สวมตอ” เป็น “ทุเรียนภูเขาไฟ” ของไทยแล้ว ไม่เพียงทำลายภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย หากยังทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของ “ทุเรียนภูเขาไฟ” และยังทำร้ายเกษตรกรผู้เพาะปลูกทุเรียนไทย อย่างไม่น่าจะให้อภัยอีกด้วย