บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล ที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน จัดตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environment Social and Governance: ESG) อย่างเป็นทางการ เน้นความโปร่งใสและความเป็นอิสระในการกำกับดูแลด้านความยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารเพื่อสร้างผลตอบแทนและคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย สอดคล้องกับ 6 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ สู่เป้าหมายการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ภายใต้แนวคิด “Powering Energy Sustainability with Quality Megawatts” มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ของ BPP มีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนคณะกรรมการบริษัทกำกับดูแลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ เช่น อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมกับชุมชน และความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น โดยคณะกรรมการ ESG ของ BPP ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ ประธานของคณะกรรมการ ESG นายหยกพร ตันติเศวตรัตน์ เเละ นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการ ซึ่งล้วนเป็นกรรมการอิสระทั้งหมด จึงโดดเด่นในความโปร่งใสและเป็นกลางในการดำเนินงาน คณะกรรมการ ESG ทั้งสามท่านมีหน้าที่ในการพิจารณาทิศทางและนโยบาย ESG ของบริษัทฯ ติดตามและตรวจสอบการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญและเสริมสร้างกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน รวมทั้งติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานด้าน ESG ให้ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
ศาสตราจารย์ ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ ประธานคณะกรรมการสิ่งเเวดล้อม สังคม เเละการกำกับดูเเลกิจการ (ESG) บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โลกปัจจุบันเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำ รวมถึงคุณภาพชีวิต ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวและพัฒนาองค์กรให้มีความยั่งยืนตามหลัก ESG BPP อยากสร้างความมั่นใจกับทุกภาคส่วนว่าเราไม่ได้มองแต่เพียงผลลัพธ์ทางด้านเศรษฐกิจ แต่มองรอบด้านว่าเราให้อะไรกับสังคม กับชุมชน และเราช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้อย่างไรด้วย คณะกรรมการ ESG จึงเปรียบเสมือนหางเสือเรือในการร่วมกำหนดทิศทางและนโยบาย ESG ของบริษัทฯ ให้มีความเหมาะสม ชัดเจน นำพา BPP สู่เป้าหมายในการขับเคลื่อนอนาคตแห่งการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืนได้สำเร็จ และสร้างการเติบโตในทิศทางที่สอดคล้องกับเทรนด์ความยั่งยืนโลก ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ที่ต้องทั้งชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
ปัจจุบัน BPP ขยายพอร์ตธุรกิจอย่างสมดุลทั้งจากพลังงานความร้อนที่ถือว่าเป็นกระดูกสันหลัง (backbone) ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยรวมถึงทั่วโลก ควบคู่ไปกับพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนผ่านการผลิตพลังงานไปสู่ความยั่งยืน ภายใต้กรอบการดำเนินงานสอดคล้องกับทิศทาง ESG อย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs จำนวน 6 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดราคาถูก เป้าหมายที่ 8 งานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายที่ 12 การบริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ เป้าหมายที่ 13 การแก้ปัญหาโลกร้อน และเป้าหมายที่ 16 สันติภาพ ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
การทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ ESG และคณะผู้บริหารของ BPP เพื่อผลักดันให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าใน 8 ประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่
สิ่งแวดล้อม (E) เน้นตอบโจทย์เทรนด์ Decarbonization มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีในการผลิตขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน รวมไปถึงการเร่งขยายกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ที่จะสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด นำไปสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ
สังคม (S) จากการดำเนินธุรกิจใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้ BPP เข้าใจในหลากหลายประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน และสามารถบูรณาการองค์ความรู้ด้านสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรให้เป็นแนวปฏิบัติในมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทระดับท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ส่วนภายในองค์กรคือ การดูแลและพัฒนาศักยภาพของพนักงาน BPP และภายนอกองค์กรคือ การพัฒนาและอยู่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
การกำกับดูแลกิจการ (G) บริหารจัดการภาพรวมของทั้งองค์กรด้วยความโปร่งใส โดยมีกรรมการอิสระจำนวน 5 ท่าน จากคณะกรรมการบริษัทรวมทั้งหมด 10 ท่าน นอกจากนี้ BPP ยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) แสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานที่ยึดหลักธรรมาภิบาล จรรยาบรรณ และจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การดำเนินธุรกิจของ BPP ให้ความสำคัญกับหลัก ESG มาโดยตลอด สะท้อนจากแนวทาง Triple E ได้แก่ 1. Ecosystem มุ่งสร้างเมกะวัตต์คุณภาพด้วยสมดุลพอร์ตธุรกิจจากการต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจ 2. Excellence มีความสามารถปรับตัวท่ามกลางความท้าทายโดยคงประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และ 3. ESG ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน ปัจจุบัน ESG เป็นยุทธศาสตร์ที่องค์กร สาธารณชน และนักลงทุนให้ความสนใจอย่างมาก BPP ซึ่งได้รับการประเมินจากทั้งองค์กรระดับชาติและระดับสากลว่ามีมาตรฐานด้าน ESG ที่น่าพอใจ จึงได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุนและทุกพื้นที่ที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ การที่เราจัดตั้งคณะกรรมการ ESG จึงจะยิ่งช่วยเสริมความมั่นใจในด้านการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของบริษัทฯ ทั้งนี้ เราจะยังคงดำเนินธุรกิจโดยเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติตามหลัก ESG มุ่งสร้างสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อนและพลังงานหมุนเวียน ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้างเมกะวัตต์คุณภาพ อันจะนำไปสู่ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม”
ทั้งนี้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com
หมายเหตุ: เกี่ยวกับบ้านปู เพาเวอร์
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล ที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Powering Energy Sustainability with Quality Megawatts” (มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา BPP มุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้มากกว่า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568