แตกดังโพล๊ะโบ๊ะบ๊ะพอๆ กับจัดตั้งรัฐบาล ก็องค์กร กสทช. นี่แหละ หลังผู้บริหาร - จนท.สำนักงาน กสทช. สับสน ไม่รู้ต้องฟังคำสั่งใครกันแน่ ล่าสุดประธาน กสทช. ร่อนคำสั่งให้ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน ต้องปฏิบัติตามระเบียบกฏหมายเคร่งครัด ห้ามฟังคำสั่งใครอื่น นอกจากผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หากฝ่าฝืน “แนวปฏิบัติใหม่” โดนลงโทษทางวินัยผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค.66 ที่ผ่านมา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้ลงนามหนังสือบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ สทช. 2102/ว.2143 เรื่อง การปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจ แจ้งไปยังผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน กสทช. เช่น รองเลขาธิการฯ ผู้ช่วยเลขาธิการฯ ผู้อำนวยการ และผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น โดยมีเนื้อหาว่า“ด้วยประธาน กสทช. ได้มีข้อสั่งการตามบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สทช. 1001/63 ลงวันที่ 20 ก.ค. 2566 เรื่อง การปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามข้อสั่งการของประธาน กสทช. และเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จึงให้พนักงาน และลูกจ้างของสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามข้อสั่งการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้ถือว่ากระทำผิดวินัย จึงเรียนมาเพื่อทราบ และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป”สำหรับหนังสือบันทึกข้อความ ด่วนที่สุดที่ สทช. 2102/ว.2143 เรื่อง การปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจ ลงนามโดย ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 66 มีเนื้อหาว่า “ด้วยปรากฏว่า การปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ที่ผ่านมา เกิดปัญหาการบริหารภายในสำนักงาน กสทช. อันเกิดจากความไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่และอำนาจของตนตามกฎหมายทั้งในส่วนของผู้บริหารและพนักงานผู้ปฏิบัติ เกิดการดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง ละเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำการข้ามขั้นตอนการปฏิบัติและสายการบังคับบัญชา และหากปล่อยให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวดำรงอยู่โดยไม่มีการแก้ไข จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อภาพลักษณ์และการปฏิบัติงานของ สำนักงาน กสทช. ที่มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสาธารณะเพื่อให้พนักงานสำนักงาน กสทช. ทุกคนเข้าใจในบทบาทหน้าที่และอำนาจตามตำแหน่งและสายการบังคับบัญชาอย่างถูกต้องตรงกัน และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเรียบร้อยราบรื่นตามสายการบังคับบัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความขัดแย้ง เพิ่มความเข้าใจและร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติงานเพื่อนำพาสำนักงาน กสทช. ไปสู่ความเป็นองค์กรชั้นนำในระดับอาเซียน ในการกำกับดูแลและพัฒนากิจการสื่อสารเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้อาศัยอำนาจตามมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงให้แจ้งพนักงาน สำนักงาน กสทช. ทุกคนเพื่อทราบและถือปฏิบัติดังต่อไปนี้1. สำนักงาน กสทช. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธาน กสทช. (มาตรา 56)2. เลขาธิการ กสทช. ขึ้นตรงต่อประธาน กสทช. และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน กสทช.(มาตรา 60)3. ‘กสทช.’ หมายความว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จำนวนเจ็ดคน (มาตรา 6)‘กรรมการ’ หมายความว่า กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (มาตรา 4)กสทช. อาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามมาตรา 33/1 หรือมอบหมายให้สำนักงานปฏิบัติการอื่นตามมาตรา 57(7)3.1 ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใด ให้อำนาจกรรมการ มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. หรือพนักงาน ปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติการอื่นใดได้โดยตรง3.2 ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใด กำหนดให้ กสทช. และ/หรือ กรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการบริหาร กำกับดูแล ควบคุม สั่งการหรือประเมินผล สำนักงาน กสทช. ส่วนงานภายในหรือพนักงาน3.3 เมื่อสำนักงาน กสทช. ส่วนงานภายใน หรือพนักงานคนใด ได้รับการร้องขอมอบหมายข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ หรือได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการอย่างใดจากกรรมการหรือบุคคลอื่น นอกเหนือจากผู้บังคับบัญชาตามสายการบังคับบัญชาต้องรีบเสนอ เลขาธิการ กสทช. ให้สั่งการหรือเสนอประธานเพื่อทราบหรือสั่งการแล้วแต่กรณี และห้ามมิให้กระทำหรือดำเนินการใดๆ ก่อนได้รับข้อสั่งการจากประธานหรือเลขาธิการ4. ก่อนมีคำสั่งหรือดำเนินการใดๆ ต้องศึกษาข้อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ มติ ครม. มติ กสทช. ที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดรอบคอบในทุกมิติ อย่าให้เกิดบกพร่องหรือผิดพลาดขึ้นได้5. ห้ามมิให้สั่งการหรือดำเนินการใดๆ อันเป็นการข้ามขั้นตอนและสายการบังคับบัญชา เว้นแต่จะได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากล่าช้าจะเกิดความเสียหาย และเมื่อดำเนินการแล้วต้องรีบแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยทันที6. หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้ถือว่ากระทำผิดวินัย