คอนโดหรู "แอชตัน อโศก" ช็อก! ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เหตุที่ดินผ่านทางเข้า-ออก ของ รฟม. ไม่อาจอนุมัติให้เอกชนผ่านทางเข้า-ออกได้ ด้านบริษัทยังมึนโยนกลองให้หน่วยงานรัฐต้องรับผิดชอบเอง ยันบริษัทได้รับใบอนุญาตถูกต้องก่อนตัดสินใจผุดโครงการคอนโดฯ หรู
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการคอนโด แอชตัน อโศก หลังจากที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โดย นายศรีสุวรรณ จรรยา กับพวกรวม 16 คน ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน และ บริษัท อนันดา เอ็ม เอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เป็น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ทู จำกัด ในกรณีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติโดยร่วมกันออกคำสั่งอนุมัติ หรือ อนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ ชื่อโครงการ แอชตัน อโศก ในซอยสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ
โดยขัดต่อกฎหมายละเมิดสิทธิชุมชนและละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนบุคคลของชาวบ้านโดยรอบพื้นที่โครงการดังกล่าว ด้วยการปล่อยให้มีการปิดกั้น หรือใช้ประโยชน์ถนนสาธารณะนอกของวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน
ล่าสุด บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด ได้ออกแถลงการณ์กรณีคดีที่ดินโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา รวมถึงบุคคลอื่น ๆ ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยระบุว่า บริษัทอยู่ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากผลแห่งคดี ในฐานะผู้ร้องสอด หลังศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
โดยแถลงการณ์ของ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวก (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา ที่ 1 , ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ที่ 2 , ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 3 , ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ 4 , คณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ที่ 5 (ผู้ถูก ฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด “บริษัทฯ” ซึ่งไม่ใช่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง แต่ถูกเรียกเข้ามาในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากผลแห่งคดี ในฐานะผู้ร้องสอด ในคดีหมายเลขดำที่ อส 67/2564 หมายเลข แดงที่ อส.188/2566
โดยศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง บริษัทฯ ขอน้อมรับ และเคารพในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตามที่ได้วินิจฉัยไว้
กรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นสำคัญที่ว่า ที่ดินของ รฟม. ไม่อาจนำมาให้บริษัทฯ หรือเอกชนใช้ในการทำโครงการได้ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
บริษัทฯ เห็นว่า ศาลปกครองซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ และหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กับ เอกชน เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้ง เพื่อวางแนว หรือ สร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการให้ถูกต้องชอบธรรม
อีกทั้งภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ รวมถึงฉบับปัจจุบันพุทธศักราช 2560 ในส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่รัฐจะอนุมัติ หรืออนุญาตให้ผู้ใดทำการได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย โดยรัฐมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องใช้อำนาจและทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกับประชาชน หรือผู้ประกอบการ
ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังเกิดขึ้นเป็นคดีนี้แล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและทำการเยียวยาในความเดือดร้อน เสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และโดยไม่ชักช้า
ดังนั้น ผลแห่งคำพิพากษาที่เกิดขึ้นดังกล่าว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ต่อเจ้าของร่วมอาคารชุด และบริษัทฯ เพราะหากหน่วยงานราชการผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติแล้ว โครงการนี้จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างที่เป็นอยู่
ทั้งนี้ บริษัทฯจะเร่งรีบดำเนินการในการเรียกร้องค่าเสียหายกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัทฯ โดยเร็ว รวมทั้ง บริษัทฯ จะดำเนินการประสานงานคณะกรรมการนิติบุคคลแอชตัน อโศก และท่านเจ้าของร่วมเพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อทวงถามความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ภายใน 14 วัน (สิบสี่) นับแต่วันนี้
บริษัทฯ ใคร่ขอยืนยันว่า การทำโครงการแอชตัน อโศก นั้น ได้มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมาย รวมทั้งข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตต่าง ๆ รวมทั้งสภาพที่ดินของโครงการอย่างรอบคอบรัดกุม อีกทั้ง การพิจารณาอนุมัติในการทำโครงการต่าง ๆ ยังได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติ และภายใต้การกำกับ ควบคุม ๆ จากหน่วยงานของรัฐไม่ต่ำกว่า 8 หน่วยงาน
จึงเป็นที่เห็นประจักษ์และยืนยันได้ว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการไปด้วยความสุจริต และชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้งแล้วทุกประการเท่าที่บริษัทฯ จะทำได้ด้วยความเชื่อถือโดยสุจริตว่า การอนุมัติของหน่วยงานราชการทุกฝ่ายนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
บริษัทฯ จึงใคร่ขอความเป็นธรรมจากทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขป้องกันมิให้ปัญหาที่เกิดขึ้น ดังเช่นคดีนี้ได้เกิดขึ้นอีก และเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐได้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็วด้วย
อนันดาฯ ขอ 14 วัน เคลียร์หน้าเสื่อ!
เมื่อเวลา 17.00 น. ของวันเดียวกัน นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดิเวลลอปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เบื้องต้นทางบริษัทจะขอเวลาประมาณ 14 วัน เพื่อไปหารือหน่วยงานต้นเรื่อง คือ รฟม. และกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือและหาทางออกร่วมกันในเบื้องต้นว่า จะดำเนินการแก้ไขและหาทางเยียวยาเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นความผิดของทางบริษัท เพราะบริษัทได้ดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งการขอใบอนุญาตก่อสร้าง และการขอใช้พื้นที่จาก รฟม. เกือบ 100 ล้านบาทด้วย
“ยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้น บริษัทได้รับความเสียหาย รวมทั้งลูกบ้าน ลูกค้า และผู้ถือหุ้นด้วย โดยบริษัทยืนยันว่า ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประเด็นที่ศาลสั่ง คือ ผิดประกาศกระทรวงฉบับที่ 33 นำที่ดินรัฐมาดำเนินการขัดต่อกฎหมาย โดยโครงการดังกล่าวบริษัทได้ใบอนุญาต 9 ใบ จาก 7 หน่วยงาน มีการผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการต่างๆ รวม 5 ชุด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่า ใน กทม. มีโครงการที่คล้ายกันอีก 13 โครงการ และโครงการใกล้เคียงกันอีกเป็น 100 โครงการที่ขอเชื่อมทางกับหน่วยงานของรัฐ”
นายชานนท์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีทั้งหมด 668 ยูนิต มูลค่ารวม 6,481 ล้านบาท มีผู้เข้าอยู่อาศัยหรือมีการโอนโฉนดไปแล้วร่วม 580 ครัวเรือน หรือคิดเป็นมูลค่า 5,653 ล้านบาท แบ่งเป็นคนไทย 438 ราย ต่างชาติ 142 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวประมาณ 84% อยู่มานานกว่า 4 ปี ดังนั้นหากจะต้องทุบตึกทิ้ง ต้องส่งผลกระทบกับลูกบ้านเป็นอย่างมาก หากจะต้องทุบตึกทิ้งก็จะส่งผลกระทบต่อลูกบ้าน 580 ครอบครัว ที่เข้ามาอยู่แล้ว จึงต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อไม่ให้รับผลกระทบจากคำสั่งครั้งนี้ ส่วนจะมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่นั้น ก็จะต้องเป็นกระบวนการต่อไป เพราะต้องดูว่า หน่วยงานไหนรับผิดชอบอย่างไร