ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ณ ห้องสุรศักดิ์ 1 โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร พล.ต.ต.วราห์ เอี่ยมมงคล กรรมการที่ปรึกษา บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง และประธานในพิธี พร้อมด้วย นายณัฐชัย ผะเดิมชิต ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัย และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ได้แก่ ร.ต.อ. ศิรวัชร์ แก้วดุสิต ผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความปลอดภัย และกู้ภัย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), นายยุทธนา เศรษฐนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์, นายศิริชัย นิ่มมา ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน พื้นที่ 3 และ นายภุชพงศ์ สัญญโชติ หัวหน้าสถานีดับเพลิง และกู้ภัยลาดยาว กองปฏิบัติการดับเพลิง และกู้ภัย 3 สำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกันเปิดสัมมนา “โครงการสร้างความเข้าใจรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง และการบริหารจัดการเหตุฉุกเฉิน” ซึ่งภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ระบบบัญชาการเหตุฉุกเฉิน (ICS) เพื่อการจัดการเหตุฉุกเฉิน” และการเสวนาหัวข้อ “การบริหารจัดการเชิงบูรณาการร่วมสถานการณ์ฉุกเฉิน”
สำหรับเป้าหมายการจัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง การบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินในภาพรวม และการประสานงานขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หน่วยบริการเหตุการณ์ฉุกเฉินภายนอก ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงหน่วยงานองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อให้สามารถประสานการทำงานร่วมกัน และตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
พล.ต.ต.วราห์ กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ มีความเข้าใจในระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ในภาพรวม เช่น เส้นทางการให้บริการ และส่วนประกอบของสถานี อาทิ ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า โครงสร้างสถานี และอุปกรณ์ รวมถึงความเข้าใจ การบริหารจัดการเหตุการณ์ฉุกเฉินของบริษัทฯ เพื่อทำให้เกิดความคุ้นเคยในการประสานงานความร่วมมือในการดำเนินงาน ด้านความปลอดภัย และยังเป็นการสานความสัมพันธ์อันดี ระหว่างเจ้าหน้าที่ในแต่ละหน่วยงาน
พร้อมเชื่อว่า หลังจากการเสวนาร่วมกันในครั้งนี้ แต่ละหน่วยงานจะเข้าใจถึงข้อปฏิบัติ และบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งระบบการปฏิบัติการแก้ไขเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มีความรวดเร็ว คล่องตัว และมีมาตรฐาน จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และพื้นที่โดยรอบได้เป็นอย่างดี