
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 68 เวลา 11.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ ผู้แทนการค้าไทย ให้นายอุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรีและผู้แทนจากสมาคมทุเรียนไทย ประกอบด้วย นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกกิตติมศักดิ์สมาคมทุเรียนไทย น.ส. บัวบูชา ทองสาริ นายณรงค์ศักดิ์ เนียมสอนนาย ทักษ์ศมนญ์ เพ็ชรมุณี และนายกิตติธัช กนกนาก เข้าพบหารือการแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียนไปประเทศจีน

โอกาสนี้ ผู้แทนการค้าไทยได้รับทราบรายงานจากประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรีและผู้แทนสมาคมทุเรียนไทยว่า ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทยและผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน กำลังเผชิญกับปัญหาสำคัญอันเกิดจากมาตรการตรวจสอบสารตกค้างของประเทศจีน โดยเฉพาะสาร BY2 ซึ่งมีการตรวจพบตกค้างที่เปลือกทุเรียน ส่งผลให้รถบรรทุกที่ขนส่งทุเรียนจำนวนมากติดค้างที่ด่านศุลกากรขาเข้าของจีน ไม่สามารถกระจายผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้ตามปกติ และส่งผลต่อคุณภาพของทุเรียนได้รับความเสียหาย โดยประเทศจีนได้กำหนดค่ามาตรฐานของสาร BY2 ซึ่งเป็นสารสีเหลืองชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มสารที่อาจจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งระดับ Class 2 ให้ต้องตรวจไม่พบคือต้องมีค่าต่ำกว่า 0.5 ppb (หรือ 0.0005 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก เมื่อเทียบกับสารกำจัดแมลงที่จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งระดับ Class 1 (ร้ายแรง) ซึ่งอนุญาตให้มีได้ถึง 1 PPM หรือ 1,000 ppb กล่าวคือ ต่ำกว่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งร้ายแรงถึง 2,000 เท่า ซึ่งโดยตรรกะแล้ว สารก่อมะเร็งClass2 อย่างBY2 นั้น ควรจะอนุญาตให้มีในระดับสูงสุดมากกว่า 1,000 pbb แสดงให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลของมาตรการดังกล่าว อันอาจตีความได้ว่าเป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้าที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะจากภาคตะวันออกมีมากกว่า 871,000 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนที่มีเป้าหมายส่งออกไปยังตลาดจีนเป็นหลัก ซึ่งการที่มีการตรวจเข้มงวดในเรื่องสารตกค้าง โดยเฉพาะการตรวจสาร BY2 และแคดเมียมทุกตู้คอนเทนเนอร์แม้แต่เฉพาะเปลือกที่ไม่ใช่ส่วนรับประทาน จึงทำให้เกิดความล่าช้า และส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก นำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นในตลาด และอาจเกิดผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนทั้งระบบ ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ต่อเกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่า 200,000 ครัวเรือน และมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสมาคมผู้ผลิต และผู้ส่งออกได้ร่วมกันแจ้งปัญหาและแนวทางแก้ไขให้แก่หน่วยงานภาครัฐและสถานทูตจีนมาแล้วอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ห้องปฏิบัติการตรวจสารตกค้างในประเทศไทยถูกปฏิเสธการรับรองจาก 8 แห่ง เหลือเพียง 3 แห่ง ในขณะที่ห้องปฏิบัติการของไทยที่ยื่นขออนุญาตเพิ่มเติมก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากประเทศจีน อีก 5 แห่ง สถานการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าและผลผลิตเสียหายเมื่อส่งไปถึงปลายทาง ดังนั้นกลุ่มสมาคมและเครือข่ายต่าง ๆ ในห่วงโซ่ทุเรียนไทยจึงขอให้นายกรัฐมนตรีได้เร่งแก้ไขปัญหาโดยดำเนินการเจรจากับทางการจีนตามแนวทาง 3 ประการ ดังนี้
1. ขอให้ใช้มาตรฐานการตรวจสอบสารปนเปื้อน BY2 แบ่งเป็น 2 ค่า คือ การตรวจที่เนื้อทุเรียนให้ตรวจแบบไม่พบ (Not Detected) ได้ แต่ในส่วนที่เปลือกขอให้มีเกณฑ์ขั้นต่ำที่รับได้ คือ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม หรือ 10 ppb
2. ขอให้ยกเลิกการระงับใบรับรองห้องปฏิบัติการในประเทศไทย เนื่องจากตามหลักสากล ห้องปฏิบัติการจะรับรองเฉพาะผลการตรวจวิเคราะห์ในลูกทุเรียนที่เอามาตรวจเท่านั้น ถ้าตรวจพบสารที่ควบคุมในตู้หรือในผลทุเรียนลูกอื่นที่ไม่ได้เอามาตรวจ (เพราะการตรวจใหม่ย่อมไม่ใช้การตรวจทุเรียนลูกเดียวกัน) ควรระงับใบ DOA หรือ หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิต สินค้าพืชของโรงคัดบรรจุที่พบเจอเท่านั้น รวมถึงขอให้พิจารณาเพิ่มห้องปฏิบัติการในพื้นที่ปลูก ทุเรียน ให้เพียงพอกับผลผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบการตรวจสอบให้ทันต่อเหตุการณ์
3. เนื่องจากการตรวจพบสารตกค้างในทุเรียนไทยมีจำนวนน้อยมาก จึงขอให้ลดจำนวนการตรวจแบบ 100% ที่ด่านชายแดน โดยควรกำหนดสัดส่วนการสุ่มตรวจน้อยกว่า 30% ของผลผลิต ที่ส่งออกเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าเสียหายจากการขนส่งและเสียโอกาสทางการค้า

ผู้แทนการค้าไทยย้ำว่า นายกรัฐมนตรีตระหนักและมีความห่วงใยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเร่งเจรจากับประเทศจีนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อไม่ให้การส่งผลผลิตทุเรียนที่กำลังออกมาจำนวนมากในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน เกิดความล่าช้าและผลผลิตเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับเรื่องนี้เพื่อที่จะไปเจรจากับประเทศจีนแล้ว โดยได้ทราบมาว่าในวันพรุ่งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้าหารือกับทางการจีน (GACC) เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วนต่อไป