
ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เกาะติดความฉาวโฉ่ “อาคารราชการทิ้งร้างเกลื่อนเมือง” โดยระบุว่า..
คุณอาจเข้าใจผิด หากด่วนสรุปว่าอาคารราชการจำนวนมากที่ทิ้งร้าง สร้างไม่เสร็จเป็นเพราะคอร์รัปชันหรือเจ้าหน้าที่ไม่ใส่ใจกับเงินภาษีประชาชนที่เสียไป เพราะยังมีเหตุผลด้านดีและร้ายอยู่หลายแง่มุม
ตัวอย่างความล้มเหลวในงานก่อสร้างของราชการที่คนไทยจำได้ดี คือ โครงการสร้างสถานีตำรวจทั่วประเทศ 396 แห่ง มูลค่า 5,848 ล้านบาท เกิดจากฮั้วประมูลที่ชักใยโดยอดีตรองนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็นำงานไปแบ่งขายโควต้าให้ผู้รับเหมารายเล็กหลายรายทั่วประเทศ

อีกโครงการคือ “อควาเรียมหอยสังข์” จังหวัดสงขลา มูลค่า 1,400 ล้านบาท ที่โกงกินโดยขบวนการของอดีตข้าราชการระดับสูงหลายคนในกระทรวงศึกษา และโครงการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท จากขบวนการสมคบคิดของนักการเมือง ข้าราชการและผู้รับเหมาจำนวนมาก

ปัจจุบันพบหลายโครงการที่สร้างไม่เสร็จ เช่น สำนักงบประมาณ มูลค่า 2.1 พันล้านบาท อาคาร กสทช. มูลค่า 2.6 พันล้านบาท รวมถึงอาคารอื่นๆ ทั่วประเทศอีกนับไม่ถ้วน เช่น สนามกีฬาชุมชน ศูนย์ท่องเที่ยว ฯลฯ คำถามคือ... โครงการที่ “สร้างไม่เสร็จ” เหล่านี้เกิดปัญหาอะไร? ใครต้องรับผิดชอบ?

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ก่อสร้างไม่เสร็จหรือผู้รับเหมาทิ้งงาน ..
1. เจ้าหน้าที่ผิดพลาดหรือด้อยประสิทธิภาพ เช่น
1.1 แบบก่อสร้างไม่ชัดเจน มีการแก้แบบ เพิ่มงาน ของานแถม แล้วโยนเป็นภาระผู้รับเหมา
1.2 หน่วยงานมีปัญหาการเบิกจ่ายเงิน เช่น ช่วงโควิดหน่วยงานรัฐต่างถูกตัดงบประมาณจำนวนมาก
1.3 หน่วยงานขาดประสพการณ์บริหารงานก่อสร้าง พิจารณาอนุมัติแบบเพื่อก่อสร้างจริง อนุมัติวัสดุ/อุปกรณ์ล่าช้า ตรวจรับงาน/เบิกจ่ายเงินล่าช้า เป็นเหตุให้ผู้รับเหมาขาดเงินหมุนเวียน
1.4 เจ้าหน้าที่ เช่น กรรมการตรวจรับงาน ช่างคุมงาน ไม่มีความรู้เพียงพอ ขาดประสบการณ์ ในการคุมงานและตัดสินใจ ขั้นตอนการบริหารงานที่ซับซ้อนและมากเกินความจำเป็น
1.5 การแบ่งงวดงาน/งวดเงิน ไม่สอดคล้องกับเนื้องานที่ทำจริง ทำให้ผู้รับเหมาต้องลงทุนเยอะ แต่เบิกเงินได้น้อย
1.6 งานเริ่มล่าช้าเพราะหน่วยงานมีข้อติดขัด ส่งผลให้แผนงานผู้รับเหมาผิดพลาด เช่น การส่งมอบที่ดิน
1.7 เจ้าหน้าที่สั่งงานปากเปล่า ทั้งที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนอนุมัติของราชการครบถ้วน
2. ผู้รับเหมาก่อปัญหาเอง ปัญหาที่พบ
2.1 ผิดพลาดในการบริหารจัดการ เช่น ขาดประสบการณ์ในงานลักษณะนั้น เจองานที่ต้องใช้เทคนิคซับซ้อน รับงานในราคาต่ำกว่าจริง คำนวณต้นทุนผิดพลาด เงินขาดสภาพคล่อง/หาแหล่งกู้ยืมไม่ได้ตามแผนหรือรับหลายงานพร้อมกัน ราคาวัสดุก่อสร้างแพงขึ้นมากเกินคาด ขาดแรงงานมีฝีมือ ฯลฯ
2.2 ถูกโกงหรือไปร่วมขบวนการโกง เช่น ซื้องานมาจากนายหน้า รับเหมาช่วง แล้วถูกเอาเปรียบหรือถูกหักค่านายหน้ามากเกินไป ถูกผู้มีอิทธิพลบีบจนไม่สามารถซื้อวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ได้ ถูกเจ้าถิ่นบังคับให้จ้างคนของเขามาถมดินในราคาแพงหรือเรียกค่าเงินกินเปล่าค่าถมดิน เป็นต้น
2.3 ตั้งใจทิ้งงาน เมื่อได้รับเงินงวดตามต้องการแล้ว (ดูเอกสารประกอบท้ายบทความนี้)
2.4 เจอปัญหาใหญ่แบบคาดไม่ถึง ทำให้ไปต่อไม่ได้ เช่น พื้นดินทรุดตัวมาก เกิดโรคโควิด 19 เป็นต้น
3. คอร์รัปชัน เช่น
3.1 จ่ายเงินใต้โต๊ะ ค่าฮั้ว ล็อคทีโออาร์เพื่อล็อคผู้รับเหมา ล็อคสเปกวัสดุอุปกรณ์ ค่านายหน้ า ทุกอย่างต้องจ่ายหนักมากจนไม่เหลือกำไร
3.2 จ่ายเงินค่าเร่งเวลาเมื่อขออนุมัติวัสดุอุปกรณ์ หรือจ่ายเมื่ออยากใช้ของราคาถูก จ่ายทุกขั้นตอนการตรวจรับงาน เบิกจ่ายเงิน อนุมัติขั้นตอนก่อสร้าง การแก้ไขแบบรูปรายการและการบริหารสัญญา
3.3 มีการล็อกสเปกวัสดุอุปกรณ์บางอย่างที่ผู้รับเหมาไม่รู้มาก่อน หรือไม่สามารถซื้อหามาได้
3.4 ถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง เพราะไม่ยอมจ่ายเบี้ยใบ้รายทาง หรือไม่ใช่พวกพ้อง หรือแหวกฮั้วเข้ามา
3.5 ถูกคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นมารีดไถ เช่น ตำรวจ เทศกิจ ตม. แรงงาน อปท. ฯลฯ
สุดท้ายหากงานก่อสร้างไปต่อไม่ได้ เกิดการทิ้งงาน ย่อมกลายเป็นภาระให้หน่วยงานรัฐต้องเริ่มขั้นตอนหาผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการต่อ ทำให้งานล่าช้าและเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก แม้จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ก็ไม่คุ้ม บางครั้งก็ไม่มีหลักประกันว่างานนั้นจะเสร็จได้หากมีการโกงกินหนักมากอยู่แล้ว
หลายโครงการที่พบว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เข้มงวดรัดกุมมาก จนผู้รับเหมาไม่สามารถลดสเปก ลดเนื้องาน ขอแก้แบบ หรือขอขยายเวลาก่อสร้างได้เหมือนที่เคยปฏิบัติมา สุดท้ายก็มักทิ้งงาน เหมือนที่คนวงในอธิบายเรื่องอาคาร สตง. ประจำจังหวัดถูกทิ้งงานนับสิบแห่ง
ขณะที่อาคารรัฐสภาใหม่มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานกว่า 12 ปี (2554 – 4 ก.ค. 2567) กลับมีต้นเหตุจากลูกเล่นแพรวพราวของผู้รับเหมาฯ โดยแท้

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณว่า โครงการก่อสร้างใด เจอปัญหาลักษณะไหนครับ
หมายเหตุ:
-เอกสารประกอบ: 9 เหตุผล: ทำไมพ่อค้า ‘ฟันราคาประมูล’ งานรัฐ https://www.isranews.org/article/isranews-article/123236-mana-40.html