
แจ้ง “ดีเอสไอ” รัฐเสียหายแสนล้าน
…
การระบายข้าวสารของโครงการรับจำนำข้าว ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 100 ชุด ประกอบด้วย ตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ และทหาร แล้วจัดอบรมแค่ 2 วัน กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวกันไปแล้ว และเอาคณะกรรมการเหล่านี้มาตรวจข้าว (ฉ่ำข้าว) เก็บตัวอย่างข้าวในโกดัง จากปกติคนตรวจข้าวคือเซอร์เวเยอร์ ต้องมีใบรับรองจาก “อคส.-อตก.” แต่ยุค คสช. อบรมกันแค่ 2 วัน ส่งมาตรวจเข้าแล้ว เอาพลทหารมาตรวจข้าวได้อย่างไร
ตามคำให้การของเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างข้าว ที่ไปให้การมัดตัวเองโดยไม่รู้ตัวไว้กับศาลปกครอง ว่าตรวจข้าวคนเดียวเป็นหมื่นๆ ตัวอย่าง โดยเอาเข้าไปเก็บไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ในหน่วยงานคนมีสี แต่ไม่เคยแจ้งผล มาถึงก็แจ้งค่าเสียหายให้เจ้าของโกดัง-หัวหน้าคลัง-เซอร์เวเยอร์ต้องชดใช้ ทั้งที่ข้าวสารถ้าเอาออกจากระสอบในโกดัง แล้วไปเจอแดด-ความร้อน-ลม-ฝุ่น และไม่ตรวจคุณภาพภายใน 15 วัน สภาพของข้าวมันเปลี่ยนไปแล้ว
นั่นคือส่วนหนึ่งของความเละเทะในการระบายยุค คสช. ที่สร้างความเสียหายให้กับรัฐจำนวนมาก จึงต้องแจ้งเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

โดยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 68 นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม เจ้าของโรงสีข้าวรายใหญ่ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ นายอานุภาพ ภรพิริยะนิยม ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดยโสธร และอุปนายกโรงสีข้าวไทย ทนายวีระยุทธ สิทธิโภช ได้เดินทางมาพบเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ข้อมูลครั้งสุดท้ายในการระบายข้าว 18.9 ล้านตัน สมัยรัฐบาล คสช. ช่วงปี 58-62 เร่งระบายข้าวโดยวิธีคิดเองทำเอง ตั้งระเบียบขึ้นมาใหม่เอง ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ จึงได้ร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด เพื่อส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนไปตามกฎหมาย

นายบัญชา กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 1 ปี ที่ผู้ประกอบการคลังสินค้าได้มายื่นเรื่องร้องทุกข์กับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ประกอบการคลังสินค้า รวบรวมพยานหลักฐานจากหน่วยงานต่างๆ และคณะบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง สอบสวนเรียบร้อยแล้ว เพื่อส่งให้ ป.ป.ช. ไต่สวนเอาผิดกับข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกับการระบายข้าว สมัยรัฐบาล คสช. ต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.67 นายบัญชาพร้อมด้วยกลุ่มผู้ประกอบการคลังสินค้าฝากเก็บข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 56/57 กว่า 40 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อดีเอสไอ เพื่อขอความเป็นธรรม และให้สอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จากการคัดเกรดข้าว การระบายข้าว ตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการระบายข้าว ที่มาจากการแต่งตั้ง คสช.

กลุ่มผู้ประกอบการคลังสินค้า เรียกให้ดีเอสไอ ดำเนินการดังนี้
1. การตรวจสอบข้าว การเก็บตัวอย่างข้าวหลังการรัฐประหาร ปี 57 ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์
2. มีการจัดเกรดข้าวก่อนขายให้พ่อค้า ทั้งที่ไม่เคยมียุคใดทำมาก่อน เพราะปกติจะขายแบบเหมาโกดัง แต่ปี 60-61 มีการจัดเกรดข้าว เอ-บี-ซี โดยข้าวเกรดซี คือข้าวที่คนกินไม่ได้ ต้องขายเป็นอาหารสัตว์-เผาเป็นเอทานอล-ทำปุ๋ย
ข้าวสารทั้งหมด 18.5 ล้านตัน แต่คุณจัดเป็นข้าวเกรดซีถึง 12 ล้านตัน เพื่อขายให้เอกชน 19 ราย ในราคา กก.ละ 2-3 บาท ทำให้รัฐเสียหายกว่าแสนล้านบาท เพราะเอกชน (พ่อค้า) เอาไปส่งออก-ขายในประเทศ ถึง กก.ละ 12-13 บาท ไม่ได้นำไปทำเป็นอาหารสัตว์แต่อย่างใด
3. เจ้าของโกดังทำหนังสือถึง “องค์การคลังสินค้า (อคส.) - กรมการค้าต่างประเทศ” เพื่อขอซื้อข้าวสาร กก.ละ 10 กว่าบาท แต่ถูกปฏิเสธ ว่าจะขายผ่านการประมูลเท่านั้น นั่นหมายความว่า กก.ละ 10 กว่าบาทไม่ขาย แต่จะขาย กก.ละ 2-3 บาท
4. ดีเอสไอ ต้องตรวจสอบเอกชน (พ่อค้า) 19 ราย ที่ประมูลข้าวเกรดซี 12 ล้านตันออกไป ว่าเอาไปทำอาหารสัตว์-ทำปุ๋ย-เผาเป็นเอทานอล จริงหรือไม่? โดยมี 2-3 ราย สงสัยว่าไปดัดแปลงแก้ไขใบ รง.4 จากที่เป็นแค่โรงสี แต่ติดตั้งเครื่องโม่นิดเดียว ก็สามารถยื่นประมูลข้าวไปทำอาหารสัตว์ได้แล้ว บางรายไปขอเช่าหัวบริษัทอื่นมาก็มี
5. ปกติข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวนิ่ม จะเสียหายเร็วกว่าข้าวขาว ซึ่งเป็นข้าวแข็ง แต่ทำไมข้าวหอมมะลิในโกดังที่ จ.สุรินทร์ (เปิดประมูลขายปี 67) เก็บไว้เป็น 10 ปี แต่คุณภาพยังดีอยู่ สามารถประมูลขายได้ กก.ละ 18-19 บาท (แย่งกันประมูลด้วยซ้ำไป) แล้วทำไมข้าวขาวแค่ 4-5 ปี จึงเสียหายง่ายนักในปี 60-61 จำนวนมากถึง 12 ล้านตัน
นี่คือความฉ้อฉล! ของการระบายข้าวสารในยุค คสช. ทำให้เงินของรัฐหล่นหายไปเข้ากระเป๋าใคร? พรรคการเมืองไหน? กว่าแสนล้านบาท
เสือออนไลน์