
กรมส่งเสริมการเกษตร เผย 8 มาตรการเข้มส่งเสริมไม้ผลคุณภาพ ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของผลไม้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้สำคัญ อย่าง ทุเรียน มังคุด และลำไย ด้วยมาตรการแบบบูรณาการ ครอบคลุมตั้งแต่สวนจนถึงตลาด พร้อมใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมไม้ผลคุณภาพเพื่อบริหารสถานการณ์ผลไม้ภาคเหนือและภาคใต้ฤดูกาลปี 2568 ซึ่งผลผลิตสำคัญเช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย เป็นต้น จะทยอยออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมนี้ โดยมุ่งเน้นการป้องกันปัญหาก่อนเกิด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผลไม้ล้นตลาด ผลผลิตด้อยคุณภาพ หรือการขาดช่องทางตลาด

โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนด 8 มาตรการสำคัญในการดำเนินงานเชิงรุก ได้แก่
1) อบรมเร่งด่วนเกษตรกรเรื่อง GAP และสุขอนามัยสวน : ชวนเกษตรกรทบทวนมาตรฐานสวน ป้องกันการสวมสิทธิ์ GAP
2) จัดกิจกรรม Big Cleaning Day และสุ่มตรวจดิน – น้ำ - ภาชนะ : ยกระดับสุขอนามัยของสวน สะอาดตั้งแต่สวนถึงตลาด ลดปนเปื้อน สร้างความมั่นใจผู้ซื้อ
3) เฝ้าระวังหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพลี้ยลำไย และศัตรูพืช : สำรวจสวนทุกสัปดาห์ แก้ทันก่อนผลไม้เสียหาย
4) รายงานผลผลิตรายสัปดาห์ – และวางแผนตลาด : รู้ล่วงหน้า ตัดสินใจได้ไว ช่วยกันไม่ให้ผลไม้กระจุก
5) ร่วมมือกลุ่มแปลงใหญ่พยากรณ์และรวมขายล่วงหน้า : วางแผนเก็บผลไม้–ขายตรงตลาด สร้างรายได้มั่นคง
6) เพิ่มช่องทางขาย : ตลาดชุมชน / ขายออนไลน์ / ข้อตกลงล่วงหน้า : กระจายผลผลิตหลายทาง ลดความเสี่ยงราคาตก
7) รณรงค์ “ตัดแก่ ไม่ตัดอ่อน” – ไม่ขายผลไม้ดิบ : สร้างกระแสให้ตลาดต้องการของดีจริง ไม่ใช่เร็วแต่คุณภาพต่ำ
8) ทำ Dashboard รายอำเภอ – ติดตามข้อมูลความเสี่ยงแบบทันเหตุการณ์ : ใช้ข้อมูลจริง ตัดสินใจทัน ปรับแผนได้เร็ว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้เริ่มขับเคลื่อนแล้วในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา เชียงใหม่ ลำพูน โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในแต่ละพื้นที่ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และภาคีในพื้นที่ ร่วมดำเนินการอย่างเป็นระบบ
กรมส่งเสริมการเกษตรขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนให้ผลไม้ไทยมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีตลาดรองรับที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรไทย และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
“ผลไม้ไทย ไม่ใช่แค่รสชาติดี แต่ต้องมีระบบที่ดีร่วมกันทั้งต้นน้ำ–ปลายน้ำ”
