
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ติดตามแผนพัฒนาตลาดข้าวโพดเพื่อความมั่นคงทางอาหารของเม็กซิโก พบเป็นนโยบายสร้างความมั่นคงด้านอาหารและความเป็นธรรมในตลาดสินค้าเกษตร เผยเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกเครื่องจักรและเทคโนโลยีการเกษตรไปขาย
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้าและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ล่าสุดได้รับรายงานจาก นางสาวกรรณิกา กะการดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก ถึงการติดตามนโยบายของรัฐบาลเม็กซิโกที่มีการผลักดันแผนพัฒนาตลาดข้าวโพดเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเกษตร ที่สามารถขยายการทำตลาดเข้าสู่ตลาดเม็กซิโก เพื่อป้องความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า ปัจจุบันรัฐบาลเม็กซิโกได้แถลงนโยบาย “แผนการตลาดข้าวโพดแห่งชาติเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นธรรมในตลาดสินค้าเกษตร โดยแผนดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในรัฐเชียปัส และขยายไปยังอีก 7 รัฐ ได้แก่ โออาซากา ,เวรากรูซ , กัมเปเช , ตาบาสโก , กินตานาโร , โมเรโลส และเกร์เรโร
สำหรับแผนการตลาดใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงตลาดของเกษตรกรรายย่อย เพิ่มปริมาณการผลิต คุณภาพและมาตรฐานสินค้า และการปฏิบัติตามสัญญาและข้อผูกพันทางการเงินและยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการกระจายสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยจะเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลกลางและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (Secretaría de Agricultura y Desarrollo Rural : SADER)
โดยแผนดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมข้าวโพด เช่น ผู้จัดหาพันธุ์เมล็ดพันธุ์ ผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ผู้ให้บริการสินเชื่อและบริษัทการตลาดระดับชาติที่เป็นสมาชิกของหอการค้าอุตสาหกรรมข้าวโพดแห่งชาติ (CANAMI) โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอาหารในปริมาณที่เพียงพอ มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการ
“นโยบายดังกล่าว แสดงให้เห็นแนวโน้มที่เม็กซิโกให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารในประเทศ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเกษตร (Agri-tech) เช่น เครื่องจักรขนาดเล็กสำหรับเกษตรกรรายย่อย หรือเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่การผลิตของเม็กซิโกมากขึ้น โดยกลุ่มสินค้าที่ขายได้ จะต้องมีความคุ้มค่า ใช้งานง่าย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ผลิต ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นกลุ่มที่ภาครัฐเม็กซิโกให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น” นางสาวสุนันทากล่าว

ในปี 2024 เม็กซิโกมีการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตร (HS CODE 8433) เช่น เครื่องนวด เครื่องตัดหญ้า เครื่องอัดฟาง เป็นต้น มีมูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลกรวม 351.28 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 23 มีมูลค่า 8,640.50 เหรียญสหรัฐ
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169