คงจำกันได้ช่วงปลายปี 53 ถึงกลางปี 54 สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีเหตุการณ์วิกฤติ “น้ำมันปาล์ม” ขาดตลาด! ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย..
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะปกติแล้วน้ำมันปาล์มล้นตลาด! หาซื้อได้ทั่วไปตามห้างฯ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด ตลาดนัด ร้านโชว์ห่วย และรถเร่
แต่ช่วงนั้นน้ำมันปาล์มขาดตลาดอย่างไม่น่าเชื่อ ประชาชนต้องเข้าคิวต่อแถวกันยาวเหยียด เพื่อรอซื้อน้ำมันปาล์มบรรจุขวดไปประกอบอาหาร บางแห่งต้องเข้าคิวรอกันครึ่งค่อนวัน แถมทะเลาะวิวาทกันก็มี โดยซื้อได้คนละไม่เกิน 1-2 ขวด และราคาขยับขึ้นอีกขวดละ 9-10 บาท พ่อค้าแม่ค้าที่ทำอาหารขาย โดยเฉพาะของทอดๆ ร้องโอดครวญกันเป็นแถว
พ่อค้าแม่ค้าหลายคนที่ “เสือออนไลน์” รู้จัก ต้องหยุดกิจการชั่วคราว เช่น แม่ค้ากล้วยทอด เพราะไม่รู้จะไปหาน้ำมันที่ไหนมาทอดกล้วย-มัน เนื่องจากแต่ละวันต้องใช้น้ำมันหลายขวด
กรณีน้ำมันปาล์มขาดตลาด มีการกล่าวหานายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ ปล่อยให้สต็อกน้ำมันปาล์มขาดแคลน โดยการปั่นราคาน้ำมันปาล์มในท้องตลาดสูงขึ้น เพื่อประโยชน์แต่พวกพ้องของตน
แต่ปี 62 ที่ผ่านมา มีข่าวว่า “ป.ป.ช.” มีมติตีตกข้อกล่าวหาดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญปี 60 มีผลบังคับใช้ ปรากฎว่า ไม่มีการบัญญัติเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่ส่งไปในทางทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปได้ จึงให้ยุติการไต่สวนเรื่องนี้
จากปี 53-54 เวียนว่ายมาครบ 10 ปีแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.พาณิชย์
มาเจอปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาด คนไทยเจอโรคระบาดยังไม่พอ! กลับถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น นั่นคือ “แมส” หรือหน้ากากอนามัยขาดแคลน ขาดตลาด บางสถานที่ต้องเข้าแถวต่อคิวกันซื้อ เหมือนภาพที่เคยเข้าแถวซื้อน้ำมันปาล์มในอดีต
นายจุรินทร์ ในฐานะ รมว.พาณิชย์ ซึ่งกำกับดูแลกรมการค้าภายใน บริหารจัดการหน้ากากอนามัยอย่างไร? ถึงปล่อยให้ขาดแคลน ขาดตลาด ราคาแพง แถมยังปล่อยรั่วไหลให้มีการส่งออกไปต่างประเทศ โดยมีคนใกล้ชิดของรัฐมนตรี (บางคน) ในรัฐบาลชุดนี้ เข้ามาพัวพันกับการส่งหน้ากากอนามัยไปขายในประเทศจีน
เห็นพูดกันปาวๆ ว่า ไทยผลิตหน้ากากอนามัยวันละ 1.35 ล้านชิ้น ถือว่าไม่มาก แต่ก็ไม่น้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว และที่สำคัญคนที่ไม่ป่วยส่วนใหญ่ไม่ชอบใส่หน้ากากอนามัย
อันดับแรก บุคคลากรทางการสาธารณสุข เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ต้องมีหน้ากากอนามัยอย่างเพียงพอ เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดคนป่วย จะขาดแคลนไม่ได้ แต่ก็ขาดแคลน จนแพทย์และพยาบาลต้องมาร้องกันกระจองอแง
อันดับที่ 2 ร้านขายยาทั่วประเทศควรมีหน้ากากอนามัยจำหน่าย เพื่อควบคุมและตรวจสอบได้ง่าย ทั้งในเรื่องจำนวนการซื้อ-ขาย และราคา แต่เมื่อวันที่ 8 มี.ค.63 สมาคมร้านขายยา ออกมาโวยว่าไม่เคยได้รับหน้ากากอนามัยจากกรมการค้าภายใน
อันดับที่ 3 ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยก็โวย! ว่ากรมฯ ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูที่โรงงานยังไม่พอ แต่ทหารก็มาควบคุมด้วย คงเกรงว่าจะลักลอบนำออกไปขายเอง ของที่ผลิตได้ 100% ส่งให้กรมฯ ทั้งหมด (ไม่รู้ว่ากรมฯ ไหน) เงินก็ยังไม่ได้ บอกว่าเครดิต 3 เดือน ตายกันพอดี!
แต่กลับมีหน้ากากอนามัยจากประเทศไทยไปโผล่ที่เมืองจีน ไหนบอกว่าห้ามส่งออก แล้วสินค้าหลุดออกไปได้อย่างไร ใครจัดการ?
จากปัญหาน้ำมันปาล์มขาดตลาด มาถึงกรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลน หายากยิ่งกว่าทองคำ ล้วนวนเวียนอยู่กับการบริหารจัดการที่ไม่ได้เรื่องของคนพรรคประชาธิปัตย์ ผสมโรงไปกับการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และกระทรวงสาธารณสุข
แค่เรื่องบริหารจัดการ “หน้ากากอนามัย” ชิ้นละไม่กี่บาทนี่แหล่ะ ทำให้เสถียรภาพรัฐบาลถึงกับซวนเซ!
มีสิทธิ์ล้มหัวคะมำได้เหมือนกัน!
โดย..เสือออนไลน์