ขณะที่อุณหภูมิทางการเมืองของประเทศสารขันธ์ทำท่าจะถึงทางตัน หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งไปกว่าขวบเดือนแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังมืดแปดด้านกับสูตรการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และการรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
ขณะที่อีกฟากของขั้วการเมือง ก็กำลังดีดดิ้นกับการ "ตกปลาในบ่อเพื่อน" หลัง กกต.รับลูก สอบ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่วันนี้ จ่อจะสะดุดขาตัวเอง จากปม "ถือหุ้นสื่อ" ต้องห้าม สมัคร ส.ส. และจ่อจะบานปลายที่อาจขยายไปถึงการยุบพรรคด้วยซ้ำหากกระทำได้
แต่ล่าสุดกรณี "ค่าโง่โฮปเวลล์" 12,000 ล้านบาท ก็ไหลมาเข้าทางพลังดูดเข้าให้อีก!
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลพวงแห่งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท ปฏิบัติตามผลชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ยังผลให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ต้องจ่ายชดเชยเงินลงทุน และชดเชยความเสียหายให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญาสัมปทานโครงการทางรถไฟและถนนยกระดับโฮปเวลล์ กว่า 12,000 ล้านบาท นั้น
ไม่เพียงจะทำให้บรรดานักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนทำให้รัฐและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องเสีย "ค่าโง่" ให้คู่สัญญาภาคเอกชนในครั้งนี้
ด้วยเงินภาษีของรัฐที่จะต้องจ่ายเป็นค่าโง่ออกไปดังกล่าว หน่วยงานของรัฐยังมีหน้าที่จะต้องดำเนินการฟ้อง "ไล่เบี้ย" เอาเม็ดเงินภาษีของรัฐกลับคืนมา ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิด ของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 (อ่านเพิ่มเติมใน:เนตรทิพย์ Online ..จากค่าโง่”โฮปเวลล์”..ถึงเหมืองทอง”คิงส์เกต" บทพิสูจน์น้ำยา”ความรับผิดชอบ จนท.รัฐ” http://www.natethip.com/news.php?id=253)
เฉกเช่นกรณีการไล่เบี้ยความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวจีทูจี นับแสนล้านที่กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานอัยการกำลังเปิดยุทธการไล่ล่าฟ้องเรียกค่าเสียหายเอากับนักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกันนับร้อยคน
และเช่นเดียวกับกรณีค่าโง่โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่แม้ศาลปกครองสูงสุดจะเคยมีคำพิพากษา บังคับให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ต้องปฏิบัติตาม ผลวินิจฉัยชี้ขาด ของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้ จ่ายชดเชยความเสียหายแก่กลุ่มบริษัทเอกชนคู่สัญญากว่า 9,000 ล้านบาท แต่รัฐกลับพลิกเกมส์ จนสามารถฟ้องแพ่งและอาญาเอาผิดกับนักการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้บริหารบริษัทเอกชนอีกนับร้อยตามมา
กรณีค่าโง่โฮเวลล์ 12,000 ล้านบาทนี้ก็เช่นกัน...
"อาฟเตอร์ช็อค" จากผลพวง จากการที่หน่วยงานของรัฐ เจ้าของโครงการจะต้องไปดำเนินการฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายคืนเอากลับ นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนในค่าโง่ดังกล่าว กำลังจะทำให้โฉมหน้าทางการเมืองหลังจากนี้พลิกโฉมไหลมาเข้าทางตีนพรรค "พลังดูด" เต็มพิกัด !
กลายเป็นหมากกลการเมืองและแต้มต่อที่ทำให้ พปชร.ตีปีกพึ่บพั่บ!
เพราะเมื่อย้อนรอยกลับไปพิจารณาเส้นทางการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ ที่เป็นต้นต่อทำให้รัฐและการรถไฟฯ ต้องเสียค่าโง่ในที่สุดนั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วนเกี่ยวพันโยงใยไปถึงนักการเมืองใหญ่ อย่าง "กำนันเทือก" นายสุเทพ เทือนสุบรรณ อดีต รมว.คมนาคม และประดิษฐ ภัทรประสิทธิ์ อดีต รมช. คมนาคม และ พรรคการเมืองอย่าง ปชป.ที่เคยป่าวประกาศรัฐบาลของตนไม่เคยถูกปฏิวัติจากการทุจริตคอรัปชั่นแต่อย่างใด
แม้แต่สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมว.คมนาคม และหัวหน้า ชพน.เอง ก็ยากจะหลีกหนีความรับผิดชอบจากผลพวงแห่งคำพิพากษานี้
ด้วยปรากฏหลักฐานอย่างชัดแจ้งว่า ความพยายามในการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ มีมาตั้งแต่ปี 2539 ในสมัยที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม และ เป็นผู้ที่ตัดสินใจให้การรถไฟฯ มีหนังสือลงวันที่ 27 กันยายน 2539 บอกเลิกสัญญาสัมปทานกับบริษัท โฮปเวลล์ ตามข้อสัญญาข้อ 27
โดยระบุเหตุผลว่า โครงการดังกล่าวใช้เวลาดำเนินการมากกว่า 6 ปี ผลความคืบหน้าต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดอย่างมากและเป็นที่คาดหมายได้ว่า บริษัทจะไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดได้ จึงจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาสัมปทาน
แต่การบอกเลิกสัญญาสัมปทานของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ในขณะนั้น ยังขาดความสมบูรณ์และคาราคาซังอยู่ เนื่องจากบริษัทเอกชนได้ออกโรงโต้แย้งว่า เป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามสัญญา และยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ต่อเนื่องมายังรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จึงทำให้การบอกเลิกสัญญาไม่สะเด็ดน้ำ!
กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในช่วงปี 2540 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ "ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์" เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลการรถไฟฯ จึงมีการนำเสนอแนวทางการบอกเลิกสัญญาอีกครั้งต่อคณะมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 และ 20 มกราคม 2541
ระบุเหตุผล เนื่องจากบริษัทเอกชนมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามสัญญา เพื่อให้โครงการสำเร็จตามความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์แห่งสัญญา กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ จึงเสนอให้บอกเลิกสัญญาสัมปทานตาม ปพพ. มาตรา 388 โดยกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ยังสงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากความเสียหายจากบริษัทเพิ่มเติมอีกด้วยพร้อมยื่นคำขาด ห้ามบริษัทเข้าพื้นที่ก่อสร้างนับแต่นั้นมา
เมื่อท้ายที่สุดวันนี้กรณีการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน ดังกล่าวกลับกลายเป็นค่าโง่ ที่ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟ กับต้องจ่ายเงินชดเชย คืนให้แก่เอกชนกว่า 12,000 ล้านบาท ผู้ที่มีส่วนที่ทำให้เกิดค่าโง่ขึ้นเหล่านี้ ย่อมอยู่ในข่ายจะถูกไล่เบี้ยทั้งแพ่งและอาญาตามมาเป็นพรวน (อ่านเพิ่มเติมใน: เนตรทิพย์ Online Special Report.. ย้อนรอยมหากาพย์โฮปเวลล์ ต้นตอรถไฟจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล้าน http://www.natethip.com/news.php?id=250)
และก็เป็น "หมากเด็ด" ที่ทำให้รัฐบาล และพรรคพลังดูด พปชร. สามารถจะใช้เป็นแต้มต่อในการบีบและกดดันให้นักการเมือง กลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองที่อยู่ในเป้าหมายจะต้อง "ยอมศิโรราบ" ในการเข้าร่วมกับ พปชร.
สำนักข่าว "เนตรทิพย์ ออนไลน์" ฟันธงไว้ตรงนี้เลยว่าจะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ที่เคยป่าวประกาศว่า ไม่เคยถูกปฏิวัติจากการทุจริตจำเป็นต้องถูกบีบให้เลือกข้างไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองอย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่กุมอำนาจอยู่ในเวลานี้อย่างไม่มีทางเลือก!!!