หากกรณีค่าโง่ "โฮปเวลล์" ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551
มีผลให้การรถไฟฯ ต้องจ่ายเงินขดเชยความเสียหายจากการลงทุนให้แก่ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) กว่า 11,888ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากปี 51 จากกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐ คือ การรถไฟฯ ใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาสัมปทานไม่เป็นธรรม และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน
แม้ "เนติบริกร" นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะออกโรงยืนยันรัฐบาลยังคงช่องทางเจรจาประนีประนอมกับบริษัทเอกชนโดยไม่จำเป็นต้องให้นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง ม.44 ลบล้างคำพิพากษา
แต่ผลพวงแห่งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดข้างต้นที่ให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ คือ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ต้องจ่ายค่าโง่ให้แก่เอกชนนับหมื่นล้านบาทข้างต้นนั้น หาใช่จะจบลงที่การนำเอาเม็ดเงินภาษีของรัฐออกไปจ่ายแล้วจบเกมอย่างที่ทุกฝ่ายเข้าใจกัน
เมื่อรัฐคือกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ต้องจ่าย "ค่าโง่" ตามคำพิพากษาวงเงินกว่า 12,000 ล้านบาท แน่นอน! เม็ดเงินค่าโง่ที่หน่วยงานรัฐต้องจ่ายออกไปนั้น หน่วยงานรัฐ คือ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ มีหน้าที่จะต้องไปดำเนินการไล่เบี้ยเอากับบุคคลที่ทำให้รัฐเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 ด้วย
นั่นหมายความว่า กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบต้นตอความเสียหาย ตลอดจนบุคคลที่มีส่วนทำให้รัฐเสียหายตั้งแต่ต้นด้วย เพื่อดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งกลับมา
เฉกเช่นเดียวกับกรณีความเสียหายในโครงการรับจำนำและระบายข้าวจีทูจีในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กระทรวงพาณิชย์ และ ปปช. ต้องฟ้องไล่เบี้ยผู้เกี่ยวข้องนับหมื่นล้านบาทอยู่ในเวลานี้
หรือกรณีค่าโง่โครงการรถและเรือดับเพลิง กทม. มูลค่ากว่า 6,800 ล้านบาท โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มูลค่ากว่า 23,000 ล้านบาท ที่หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการที่ต้องจ่ายค่าโง่ออกไป มีหน้าที่ต้องไปดำเนินการไล่เบี้ยมูลละเมิดหรือเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเอากับผู้มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามมา
สุวัจน์ - รบ.ชวน หลีกภัย รับไปเต็มๆ
เมื่อย้อนรอยเส้นทางการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโฮปเวลล์ในอดีต จะพบว่า เกิดขึ้นในช่วงปี 2539 ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา สมัยที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา ในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นผู้ที่ตัดสินใจให้การรถไฟฯ มีหนังสือลงวันที่ 27 กันยายน 2539 บอกเลิกสัญญาสัมปทานกับบริษัทโฮปเวลล์l ตามข้อสัญญาข้อ 27
โดยระบุเหตุผลว่า โครงการดังกล่าวใช้เวลาดำเนินการมากกว่า 6 ปี ผลความคืบหน้าต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดอย่างมากและเป็นที่คาดหมายได้ว่า บริษัทจะไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดได้ จึงจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาสัมปทาน
แต่การบอกเลิกสัญญาสัมปทานของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ในขณะนั้น ยังขาดความสมบูรณ์และคาราคาซังอยู่ เนื่องจากบริษัทเอกชนได้ออกโรงโต้แย้งว่า เป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน และยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ต่อเนื่องมายังรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ์ จึงทำให้การบอกเลิกสัญญาไม่สะเด็ดน้ำ!
กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในช่วงปี 2540 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และมีนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลการรถไฟฯ จึงมีการ นำเสนอแนวทางการบอกเลิกสัญญาอีกครั้งต่อคณะมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541
ระบุเหตุผล เนื่องจากบริษัทเอกชนมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามสัญญา เพื่อให้โครงการสำเร็จตามความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์แห่งสัญญา กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ จึงเสนอให้บอกเลิกสัญญาสัมปทานตาม ปพพ. มาตรา 388 โดยกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ยังสงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากความเสียหายจากบริษัทเพิ่มเติมอีกด้วย
ผลจากการบอกเลิกสัญญาในครั้งนั้น ที่อาศัย ปพพ. มาตรา 388 เป็นแนวทางในการบอกเลิกสัญญานั้น แม้บริษัทโฮปเวลล์จะออกโรงโต้แย้งว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบธรรมและไม่เป็นไปตามสัญญาที่กระทำต่อกัน แต่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ยังคงยืนยันการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว
รถไฟฯ เมินผลชี้ขาดอนุญาโตฯ
หลังการบอกเลิกสัญญาสัมปทานข้างต้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ได้ยื่นฟ้องกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เรียกค่าเสียหายกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท พร้อมนำเรื่องเข้าร้องสำนักงานอนุญาโตตุลาการ ด้วยเหตุผลว่า รัฐบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามสัญญา
แม้สำนักงานอนุญาโตตุลาการ จะตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อขัดแย้งดังกล่าว แต่ในส่วนของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ แทบจะเพิกเฉยกระบวนการอนุญาโตฯ ที่ว่านี้ด้วยเหตุผลที่ว่า ได้บอกเลิกสัญญาไปแล้ว
ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้นำคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2551 ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยแก่บริษัท โฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการข้างต้น ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะ มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2551 และ 15 ต.ค. 2551
ก่อนที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง และท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จนเป็นเหตุให้ การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ต้องจ่ายชดเชยคืนแก่บริษัท โฮปเวลล์ วงเงินกว่า 12,000 ล้านในที่สุด
หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณาเส้นทางการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโปเวลล์ข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อยู่ในช่วงที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นผู้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541 บอกเลิกสัญญา โดยอาศัย ปพพ. มาตรา 388 แทนที่จะเป็นการบอกเลิกสัญญาสัมปทานตามข้อกำหนดในสัญญาที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายกำหนดไว้
ไม่ว่าอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จะต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมการขึ้น ตรวจสอบไล่เบี้ยนักการเมือง บอร์ด และข้าราชการผู้เกี่ยวข้อง ที่มีส่วน ทำให้รัฐต้องเสียค่าโง่กว่า 12,000 ล้านบาทในครั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ปี 2539
และยังจะเป็นอุทาหรณ์ที่รัฐบาล คสช. และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม จำเป็นต้องคิดอ่านหาทางรับมือกับ "ค่าโง่" เหมืองทองคำคิงส์เกต อีกกว่า 30,000 ล้าน ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม ม. 44 มีคำสั่งให้บริษัท Kingsgate Consolidated ของออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เจ้าของเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ที่ถือเป็นเหมืองแร่ทองคำใหญ่ที่สุดในไทยยุติการดำเนินโครงการไปก่อนหน้านี้ จนเป็นเหตุให้บริษัทนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการโลก
ที่ล่าสุด ส่อแววว่าอาจต้องจบลงด้วย "ค่าโง่" เช่นเดียวกัน!!!