เมื่อ 2 วันก่อน โฉบไปดูเหมืองแร่ทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย “เหมืองทองคำชาตรี” หรือ “เหมืองทองคำอัครา” ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัทแม่คือ “คิงส์เกท” จากประเทศออสเตรเลีย
เหมืองทองคำอัครา ตั้งอยู่บริเวณเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร แต่อันที่จริงแล้วเหมืองดังกล่าว ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 3,700 ไร่ (ประทานบัตร 14 แปลง) ตั้งอยู่ในวงล้อมของ 29 หมู่บ้าน ใน 3 จังหวัด คือ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ทางฝั่งพิจิตร และเพชรบูรณ์ โดยพื้นที่ประทานบัตรจะทยอยหมดอายุ จนเหลือ 9 แปลงสุดท้าย หมดอายุในปี 2571
เหมืองทองอัครา เริ่มเปิดเหมืองมาตั้งแต่ปี 2543 และผลิตแร่ทองคำก้อนแรกได้ตั้งแต่ปี 2544 โดยก่อนที่จะถูกมาตรา 44 (ม.44) สั่งปิดเหมืองเมื่อวันที่ 1 ม.ค.60 มีกำลังการผลิต 6.2 ล้านตันสินแร่ต่อปี โดยเฉพาะสินแร่ทองคำสามารถผลิตได้ 130,000 ออนซ์ต่อปี และแร่เงินกว่า 1,000,000 ตันต่อปี
ใครอยากรู้มูลค่าก็ลองคูณตัวเลขกันดูเอาว่า 1 ออนซ์ เท่ากับ 31.104 กรัม ทองคำแท่งน้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.244 กรัม สำหรับแร่ทองคำและแร่เงินที่พบบริเวณนี้ จะแทรกตัวอยู่ในเนื้อหินที่มีความแข็งแกร่ง จึงต้องผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอน แล้วส่งไปหลอมแยกแร่ทองคำ-เงินออกจากกันที่เกาะฮ่องกง หลังจากนั้นจึงส่งทองคำไปผ่านการการันตีที่สวิสเซอร์แลนด์ แล้วจึงส่งกลับมาขายในประเทศไทย
เหมืองทองคำอัครามีการจ้างงานกว่า 1,000 คน ถือว่าเป็นสถานประกอบการใหญ่ที่สุดใน อ.ทับคล้อ จึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาวะการค้าขายได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเหมืองถูก ม.44 สั่งปิด ทำให้ชุมชนบริเวณรอบเหมืองเงียบเหงา ภาวะการค้าขายและเศรษฐกิจใน อ.ทับคล้อ และพื้นที่ใกล้เคียงพลอยซบเซาไปด้วย
“เสือออนไลน์” ได้คุยกับผู้นำท้องถิ่น ข้าราชการ อสม. พ่อค้าแม่ค้า และอดีตคนงานของเหมือง รวมแล้วเกือบ 10 คน ทุกคนอยากให้เหมืองเปิด เพื่อคนจะได้มีงานทำ ไม่ต้องจากครอบครัวไปทำงานต่างถิ่น ภาวะเศรษฐกิจและการค้าขายจะได้กระเตื้องขึ้น
หลายคนพูดเข้าหูว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ไปฟังข้อมูลมาจากใคร? ก่อนสั่งปิดเหมือง เพราะตอนนี้คนในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เหมืองที่สุดก็ยังอยู่ ไม่ได้ย้ายหนีไปไหน ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสุขภาพ พืชผัก สัตว์เลี้ยง น้ำประปา ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น
เนื่องจากช่วงปี 58-59 มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอนามัยหลายหน่วยงาน เข้ามาตรวจคัดกรองทั้งคน สัตว์เลี้ยง ปลาในแหล่งน้ำ พืชผักสวนครัว น้ำประปา แต่คนยังอยู่ ไม่ได้เป็นอะไร พืชผักก็เก็บกิน และซื้อกินตามตลาดนัดตามปกติ
แต่เหตุผลจริงๆ ของการประท้วงต่อต้านเหมือง คือ เรื่องผลประโยชน์ ต้องการขายที่ดินถูกๆ ให้เหมืองในราคาแพง เพราะเหมืองต้องซื้อที่ของชาวบ้านโดยรอบๆ ประมาณ 1 พันไร่ เป็นพื้นที่กันชน หรือ “บัฟเฟอร์ โซน” เพื่อปลูกต้นไม้ไว้ดูดซับฝุ่นและเสียงจากการระเบิดหิน
จากราคาที่ดินไร่ละประมาณ 2 หมื่นบาท เพราะสภาพพื้นที่มีแต่หินก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ ทำนาได้ปีละครั้ง ต้องพึ่งน้ำฝนจากเทวดา หาคนมาซื้อที่ดินยากเย็นเต็มทน แต่เมื่อเหมืองมาเปิดราคาจึงขยับไปที่ไร่ละ 3-5 แสนบาท ถ้าที่ดินอยู่ติดเหมือง จะโก่งขายในราคาแพงๆ ถ้าเหมืองไม่ซื้อก็เจอรายการประท้วงต่อต้าน
รวมทั้งคนอีกกลุ่ม ปกติมีบ้านพักห่างออกไปจากแหมือง เกินรัศมี 5 กม. ก็ย่องมาปลูกบ้านราคาถูกๆ ไว้บนที่ดินของญาติๆ ที่อยู่ใกล้เหมือง เพื่อไว้ต่อรองราคาขอค่ารื้อถอนจากเหมือง หลังละ 4-5 แสนบาท
เมื่อขายที่ดินได้เงิน และได้ค่ารื้อถอนบ้าน ส่วนใหญ่ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น นี่คือสภาพข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้ แถมยังมีคนจากต่างจังหวัดเข้ามาป่วนด้วย เช่น สระบุรี จันทบุรี พิษณุโลก ลำปาง
โดยคนพวกนี้ถ้ารู้ว่าบริษัทไหนขยับจะยื่นขออนุญาต “สำรวจแหล่งแร่” ก็แห่กันออกมาประท้วงไว้ก่อน ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บริเวณที่สำรวจแร่ จะมีปริมาณแร่มากพอ ที่จะคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่
ช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ “เสือออนไลน์” จับอาการของรัฐบาลไม่ค่อยสู้ดีนัก! คาดว่าคงกำลังเจรจาต่อรองกับ “คิงส์เกท” อย่างสุดฤทธิ์ เพื่อไม่ให้จ่ายค่าเสียหายเยอะๆ ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท จากผลของการที่ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองทองคำ ด้วย 3 ปัจจัยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้กัน คือ..
1. พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงในสภาฯ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.63 ด้วยท่าทีอ่อนลง กรณีตั้งงบประมาณ 111 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจ้างนักกฎหมายต่างประเทศ สู้คดีหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำอัครา ว่าเป็นคำสั่งระงับบริการเป็นการชั่วคราวเท่านั้น หากแก้ปัญหาได้ก็ต่อใบอนุญาตให้ รวมถึงปลดล็อคให้ถลุงแร่ทองคำได้ ยืนยันว่าคำสั่งที่ออกไปไม่ได้สั่งปิดถาวร และอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ
2. วันที่ 11 ก.ย.63 เว็บไซต์บริษัทคิงส์เกตฯ เผยแพร่หนังสือที่ลงนามโดยประธานบริหารบริษัท ว่าบริษัทอัคราฯ ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้จำหน่ายสินแร่ทองคำและแร่เงินมูลค่าสูง ซึ่งได้รับการดูแลรักษาภายใต้เหมืองทองคำชาตรีไปยังโรงแต่งแร่ของไทย เพื่อแปรรูปเป็นทองคำและเงินชั้นดี หลังจากมีการปิดเหมืองทองคำชาตรี โดยสินแร่เหล่านี้ถือเป็นสมบัติของบริษัทอัคราฯ มาโดยตลอด
ซึ่งสินแร่ดังกล่าว ประกอบด้วยทองคำ 4,750 ออนซ์ เงิน 34,800 ออนซ์ มูลค่ากว่า 318 ล้านบาท โดยบริษัทอัคราฯ ได้ตกลงเงื่อนไขกับโรงแต่งแร่ของไทย ในการดำเนินการกับสินแร่ตามกฎหมายใหม่ ที่กำหนดให้ทองคำที่ขุดในไทยต้องสกัดในประเทศไทย และเริ่มส่งสินแร่ไปยังโรงแต่งแร่แล้ว
3. วันที่ 11 ก.ย.อีกเหมือนกัน มีข่าวหลุดออกมาว่า อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดไฟเขียวให้บริษัทอัคราฯ ได้อาชญาบัตรพิเศษเหมืองแร่ทองคำและแร่เงินในพื้นที่หลายตำบล อ.ชนแดน และ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ รวมเนื้อที่กว่า 1 แสนไร่ หลังจากได้ยื่นขอไว้ตั้งแต่ปี 46-48 ซึ่งตรงนี้คงเป็นขั้นตอนการขออนุญาต “สำรวจแร่” มากกว่า
ดังนั้นจึงขอให้คนไทยเจ้าของประเทศได้โปรดพิจารณากันว่า 3 เรื่อง 3 ปัจจัยข้างต้น ทำไม? จึงออกมาในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีการตัดสินข้อพิพาทออกมา คาดว่าคำตัดสินคงออกช่วงปลายปี 63 หรือไม่ก็ต้นปี 64 แต่จากความเคลื่อนไหว ณ เวลานี้ ดูเอาเองว่า “ใครขี่คอใคร” ระหว่าง “คิงส์เกท” กับ “รัฐบาลไทย”
โดย..เสือออนไลน์