โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชo “iLaw” ได้โพสต์ความเห็นต่อ “ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใหม่ ที่ให้อำนาจ กสทช. สั่ง ISP “ตัดเน็ต” ผู้โพสต์สร้างความหวาดกลัว http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/170/T_0001.PDF
โดยสรุป:
1. ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวากลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
2. ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเทอร์เน็ต ให้สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สํานักงาน กสทช.) แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider-ISP) ทราบ เพื่อตรวจสอบเลขที่อยู่ไอพี (IP address) พร้อมให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที
หมายความว่า ให้อำนาจเพิ่มกับ กสทช. และสร้างหน้าที่ให้กับบริษัทเอกชนที่เป็น ISP เช่น ทรู เอไอเอส หรือ ทรีบอร์ดแบรนด์ ตัดการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่กำลังใช้หมายเลขไอพีดังกล่าว ถ้าผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดฉบับดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามใบอนุญาตที่ออกให้ และให้กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เช่น เพิกถอนการออกใบอนุญาต
นอกจากนี้ ยังให้สำนักงาน กสทช. ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินคดีต่อไป ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดข้อ 1 ยังคงมีโทษตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
เหตุผลประกอบที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามประกาศใช้ข้อกำหนดนี้ คือ มีการเผยแพร่โดยทั่วไปซึ่งข้อความอันเป็นเท็จที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดหรือสับสน ปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง จนเกิดความเสียหายหรือเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการรักษาสุขภาพของประชาชนโดยผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต อันเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ฉุกเฉินให้วิกฤติยิ่งขึ้น จำเป็นต้องมีมาตรการที่กำหนดให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง และมีความรับผิดชอบต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวม ในสถานการ์ฉุกเฉินเช่นนี้ ตามกรอบที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด
.
ข้อกำหนดฉบับนี้ อ้างว่าออกมาโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(3) ซึ่งกำหนดว่า...
“(๓) ห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่อ อื่นใดที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้ เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร”
หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9(3) ก็อาจมีความผิดและมีโทษตามมาตรา 18 แต่มาตรา 9(3) ไม่ได้ให้อำนาจในการสั่ง “ตัดอินเทอร์เน็ต” หรือการระงับการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เพราะอำนาจดังกล่าวอยู่ในมาตรา 11(5) เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งอำนาจเช่นนี้จะมีขึ้นได้ต่อเมื่อเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเท่านั้น ขณะออกข้อกำหนดฉบับนี้ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินธรรมดา นายกรัฐมนตรีจึงไม่อาจอ้างอำนาจตามมาตรา 9(3) ออกคำสั่งให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่บุคคลใดได้
อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนดูที่มาของคณะกรรมการ กสทช. พบว่า ตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 คสช. ได้เข้าไปแทรกแซงกระบวนการสรรหาคัดเลือกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจพิเศษ "มาตรา 44" ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 เพื่อระงับการสรรหากรรมการกสทช. เพื่อแทนตำแหน่งที่ว่างลง ถึง 2 ครั้ง ในปี 2558 และ ปี 2559 และใช้อำนาจพิเศษเพื่อต่ออายุให้คณะกรรมการกสทช. อีก 1 ครั้ง ในปี 2561
นอกจากนี้ กระบวนการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ก็ถูก "สภาแต่งตั้ง" ของคสช. ล้มอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยครั้งแรก เมื่อปี 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่เห็นชอบกับรายชื่อที่เสนอมาแบบยกชุด 1 ครั้ง และครั้งที่สอง เมื่อปี 2564 หลังวุฒิสภามีมติเห็นชอบพ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ ทำให้การสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ต้องสิ้นผลไป และทำให้คณะกรรมการกสทช. ที่ได้รับการต่ออายุมาตั้งแต่ปี 2561 ยังคงต้องรักษาการในตำแหน่งต่อไป
โดยผลงานของคณะกรรมการ กสทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอดในยุค คสช. คือ มีการลงโทษสื่อที่นำเสนอข่าวในประเด็นการเมืองอย่างน้อย 59 ครั้ง ยกตัวอย่าง Voice TV ที่ถูก กสทช. ลงโทษมาแล้วอย่างน้อย 21 ครั้ง มีทั้งการเตือน ปรับ และระงับการออกอากาศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากย้อนรอยไปพิจารณาแนวทางปฏิบัติของศาลอาญาที่ได้วางแนวปฏิบัติในการพิจารณาคำร้องปิดเว็บเอาไว้ ก่อนหน้านี้จะเห็นถึงความย้อนแย้งของข้อกำหนดที่ออกตาม มาตรา 9 พรก.ฉุกเฉินฯ
โดยก่อนหน้านี้ นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะแผนกคดีค้ามนุษย์ ซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รับผิดชอบคดียื่นคำร้องขอปิดเว็บไซต์ ระงับการเข้าถึงข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ ได้กล่าวถึงการกำหนดแนวทางมาตรฐานการพิจารณาของศาลอาญา หลังจากมีการยื่นคำร้องสู่ศาลอาญาต่อเนื่อง นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 บังคับใช้ว่า จากกรณีศึกษาการยื่นคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DES กับบริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ในคดีหมายเลขแดง พศ.339/2563 ที่ขอให้ปิดทีวีทั้งช่อง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 35 วรรคสอง เขียนว่าห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพการนำเสนอข่าวสาร
ดังนั้น การสั่งปิดสื่อจึงทำไม่ได้โดยเด็ดขาด ส่วนวิธีการดำเนินกระบวนการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งใด ๆ เกี่ยวกับคำร้องขอการระงับการเข้าถึงข้อมูลบนเว็บไซต์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 วรรคสี่ ระบุเพียงว่าให้นำวิธีการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาบังคับใช้โดยอนุโลม เราจึงต้องตีความตัวบทกฎหมายมากำหนดเป็นแนวทางพิจารณาของศาลอาญาให้ชัดเจน ถูกต้องในทางนิติศาสตร์เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องตามหลักสากล
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 64 นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา จึงอาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (4) ออก "คำแนะนำอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่าด้วยแนวทางการพิจารณาคำร้องขอให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 20" เพื่อให้ผู้พิพากษาศาลอาญามีแนวทางในการปฏิบัติและพิจารณาคำร้องอย่างมีประสิทธิภาพ ชัดเจน อาทิ ผู้ร้องต้องแยกคำร้องเป็นรายข้อกล่าวหา แต่ละคำร้องควรมีฐานความผิดเดียว เช่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ความผิดฐานเผยแพร่สิ่งลามกอนาจาร หรือการพนัน โดยแต่ละคำร้องอาจขอให้ปิดข้อมูลคอมพิวเตอร์หลายชุด (URL) ก็ได้, ให้มีการไต่สวนโดยการส่งสำเนาให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาเพื่อให้โอกาสที่จะคัดค้าน หากไม่มีคำคัดค้านก็ให้ไต่สวนฝ่ายเดียวโดยพิจารณาจากเอกสารของผู้ร้องเป็นหลัก คือภาระการพิสูจน์จะอยู่ที่ฝ่ายผู้ร้องจะต้องนำหลักฐานมายืนยันให้ศาลเห็น
สำหรับเว็บไซต์ให้ข้อมูลข่าวสาร ศาลจะไม่ปิดช่องทางการสื่อสารของสื่อหรือบุคคล การสั่งลบหรือห้ามเผยแพร่จะทำได้เฉพาะข้อความที่ศาลเห็นว่าขัดต่อกฎหมายเป็นรายข้อความและไม่ปิดกั้นการสื่อสารในอนาคต เนื่องจากเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาตรา 35 วรรคสอง คุ้มครองสิทธิของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสาร และมาตรา 36 คุ้มครองสิทธิในการสื่อสาร
สำหรับการไต่สวนจะดำเนินการภายใน 7 วันนับจากวันที่ยื่นคำร้อง เพื่อให้สอดคล้องสร้างสมดุลระหว่างความเร็วที่กระทรวง DES ต้องทำหน้าที่การปราบปรามเว็บผิดกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ กับความเป็นธรรมพิจารณาโดยเปิดเผยให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่การคัดค้าน ทั้งนี้แม้เน้นตามหลักการไต่สวน 2 ฝ่าย แต่มีข้อยกเว้นไต่สวนฝ่ายเดียวได้ในเหตุจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน ตัวอย่างกรณีมีการเสนอข่าวว่าธนาคารแห่งหนึ่งกำลังจะล้ม ให้รีบไปถอนเงิน ขณะที่การยื่นคำคัดค้านจะขอขยายเวลาหรือขอเลื่อนวันไต่สวนได้หากมีเหตุจำเป็น
(รายละเอียด ศาลอาญาเปิดแนวทางปฏิบัติ การพิจารณาปิดเว็บ...https://bit.ly/3BRB5pJ )