ความล้มเหลวจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล กำลังสร้างสารพันปัญหาให้กับประเทศไทย ธุรกิจไทย และคนไทย เมื่อมี 2 ข้อเสนอจากแบงก์ชาติ “กู้เพิ่ม 1 ล.ล. + ขึ้นแว็ต 1%” แต่ “รัฐบาลประยุทธ์” ก็ปฏิเสธ! ที่สุดทางออกของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร? พวกเราจึงไม่เป็น “ตัวประกัน” ของอำนาจรัฐ
ไม่ใช่ข้อเสนอปกติธรรมดาเสียแล้ว! สำหรับคำแนะนำจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565
ด้วยเหตุผลที่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. บอกไว้เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผานมา ว่า...สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง และมีผลชัดเจน 4 อาการ นั่นคือ...
1. เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ เพราะระหว่างปี 2563-2564 พบว่า...รายได้จากการจ้างงานหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่า รายได้ดังกล่าวจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินของรายได้จากการจ้างงานหายรวมกันมากกว่า 2.6 ล้านล้านบาท
2. การจ้างงานในระบบถูกกระทบรุนแรง ช่วงไตรมาส 2/2564 พบว่า มีจำนวนผู้ว่างงาน หรือเสมือนว่างงาน (ผู้ที่มีงานทำไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดถึง 3 เท่าตัว
3. การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่เท่าเทียม ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนเปราะบาง
และ 4. เศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากโควิด-19 หนักกว่า และจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการสูงสุดในเอเชีย คิดเป็น 11.5% ของจีดีพี
“จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมจะใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาส 1/2564 จีดีพีของไทยอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่ 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดหมดแล้ว” ผู้ว่าการ ธปท. ย้ำ
ไม่เพียงแค่การกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น เขายังเสนอให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง พิจารณาปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มอีก 1% จากเดิม 7% เป็น 8% ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และทำให้หนี้สาธารณะลดลงอีกประมาณ 0.33% ต่อจีดีพี
พลันที่ข้อเสนอของ ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาได้ไม่นาน ก็มีเสียงทั้งสนับสนุนและต่อต้านตามกันว่า...
เสียงสนับสนุน...ไม่ได้มาจากแค่คนในองค์กรของ ธปท. เพราะหลังจากนั้น แค่เพียงสัปดาห์เศษ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ออกให้รายละเอียดถึงแบบจำลองสมมติฐานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ภายใต้การกู้เงินเพิ่มเติม 1 ล้านล้านบาท ที่พบว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ เพราะรายได้ครัวเรือนลดลง และเผชิญปัญหาการปิดกิจการ จนเกิดหลุมรายได้ที่หายไปกว่า 2.6 ล้านล้านบาท
ยังมีเสียงสนับสนุนจาก...ฝั่งภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น นายธนาคาร นักธุรกิจรายใหญ่ หรือแม้แต่ นักลงทุนประเภทสถาบัน โดยเฉพาะ เสียงของคนที่อยู่ในข่ายว่า อาจเป็น “ตัวเลือกอันดับต้นๆ” ของในฝั่งประชาธิปไตย ที่จะถูกเสนอให้เข้ามาเล่นการเมืองและเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
นั่นคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายใหญ่แห่ง บมจ.แสนสิริ ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันดับต้นๆ ของประเทศไทย
นายเศรษฐา เห็นด้วยกับแนวคิดและข้อเสนอข้างต้นของ ธปท. ด้วยเหตุผลที่ภาคเอกชนมองเห็นปัญหาเชิงลึก ที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมไทย ในขณะที่ฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำเอง ก็มองเห็น...แต่ไม่กล่าจะยอมรับความเป็นจริง
ไม่ใช่แค่เสียงสนับสนุน ธปท.เฉพาะแต่ในประเทศไทย ในระดับองค์กรเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ ก็สนับสนุนแนวคิด นายเศรษฐพุฒิ และ ธปท. โดยเฉพาะมีการอ้างอิงข้อมูลของธนาคารโลก ที่ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า...
สถานการณ์เศรษฐกิจของไทย อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากการถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากปัญหาการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการประจำ
ไม่เพียงแค่ปัญหาหนี้สาธารณะของไทย ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการกู้เงินของรัฐบาลรวมกันมากถึง 7 ล้านล้านบาท กระทั่งส่งผลให้ไทยมีหนี้สินรวมมากถึง รวม 13 ล้านล้านบาท สูงแตะ 88-90% ต่อจีดีพี
หากแต่ นโยบายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนและตระกูลนักธุรกิจขนาดใหญ่ จนสามารถผูกขาดในบางธุรกิจ และสร้างผลกำไรให้เติบโตแบบก้าวกระโดด จนนิตยสาร Frobes จัดอันดับ 100 มหาเศรษฐีชาวไทย แบบไม่ยากเย็นอะไรนัก
เพราะเห็นกันโต้งๆ แล้วว่า...ใคร? ตระกูลไหน? และธุรกิจใด? ที่จะสร้างความมั่งคั่งในยามที่ประเทศและผู้คนในประเทศกำลังเดือดร้อนแสนสาหัสเช่นนี้
จะผิดพลาดความคาดหมายบ้าง? ก็แค่บางคน...บางตระกูล ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล และกระโดดจากที่ไม่เคยติดอันดับ Top 20 กลับไปอยู่ในกลุ่ม Top 5 ได้ ก็เท่านั้น
ผลจากความผิดพลาดของรัฐบาลไทย ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ยิ่งถ่างและห่างกันมากขึ้นทุกขณะ
สำนวน “รวยกระจุก...จนกระจาย” สะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคมไทยยามนี้ได้มากที่สุด!
ยุคสมัย “รัฐบาลทักษิณ” ไม่เพียงจนและผู้ด้อยโอกาสจะได้รับการดูแล และส่งเสริมให้เข้าถึงโอกาสในทุกมิติ จนคนกลุ่มนี้...บางคนก้าวขึ้นไปเป็น “ชนชั้นกลาง” ขณะที่ “ชนชั้นกลาง-เดิม” ขยับขึ้นไปเป็น...คนรวยหรือเกือบรวย
เรียกได้ว่า...คนจนแทบเหลือน้อย และอาจไม่หลงเหลือ หากไม่ถูกทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 เสียก่อน
กลับมาสู่ความเป็นจริงในปัจจุบัน! เห็นได้ว่า...ตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ระหว่าง...ครอบครัวในตระกูลเศรษฐีและมหาเศรษฐี กับครอบครัวของคนจน ที่ถูกถ่างให้กว้างมากยิ่งขึ้น จนเป็นความกังวลของธนาคารโลกในทุกวันนี้
ข้อเสนอของ ผู้ว่าการ ธปท. ที่เดิม “โทนี่ วู้ดซั่ม” หรือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เคยติงว่าไม่เหมาะสม ทว่าถึงนาทีนี้...หาก “โทนี่ วู้ดซั่ม” ได้เห็นข้อมูลเชิงลึก! เช่นที่ นายเศรษฐพุฒิ ถืออยู่ในมือ ก็อาจเปลี่ยนใจและหันมาสนับสนุนให้ “รัฐบาลประยุทธ์” หันกลับไปกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ก็เป็นได้
สำหรับ 2 ข้อเสนอของ ธปท. ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท หรือปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1% ดูเหมือนจะถูกคนในรัฐบาลปฏิเสธไปแล้ว...
เริ่มจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ออกมาตอบโต้ ธปท.ว่า เศรษฐกิจของไทยยามนี้ ยังคงแข็งแกร่ง ไม่จำเป็นจะต้องกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีแผนจะกู้เงินมาแก้ไขปัญหาและเยียวยาเศรษฐกิจจากปัญหาโควิดฯ อยู่แล้ว 5 แสนล้านบาท ซึ่งนั่น...เพียงพอต่อการจัดการปัญหาของรัฐบาล
ขณะที่ประเด็นปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 8% นั้น ล่าสุด คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ขยายระยะเวลาการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 8% ออกไปอีก 2 ปี นั่นก็หมายความว่า จากนี้ไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2567 อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังอยู่ในอัตรา 7%
ถึงบรรทัดนี้ ไม่ว่า...ข้อมูลจากฝั่ง ธปท. และธนาคารโลก กับฝั่งของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ใครจะใกล้เคียงความเป็นจริง ถูกต้องและแม่นยำมากกว่ากัน
แต่เดิมพันนี้...มีระบบเศรษฐกิจไทย ภาคธุรกิจของเอกชนไทยกว่า 3 ล้านราย ชีวิตของคนทำงาน แรงงาน และคนไทยอีกกว่า 60 ล้านคน เป็น “ตัวประกัน”
ใครจะถูกจะผิด! ไม่รู้? ที่รู้คือ...ประเทศไทย ธุรกิจไทย และคนไทยต้องรอด!
ปัญหาเหล่านี้...จะไม่เกิดขึ้น! หากรัฐบาลบริหารประเทศด้วยความโปร่งใส ไม่ปล่อยให้ใครทำการทุจริตคอร์รัปชั่น และไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาล รวมถึงใช้ “กึ๋นและหัวใจ” ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยยึดโยงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลักสำคัญ
หากวันนั้น...รัฐบาลไม่เลือก “แทงม้าตัวเดียว” เปิดเสรีนำเข้าวัคซีนและนำฉีดวัคซีนคุณภาพดี ราคาไม่แพงให้กับคนไทย ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ป่านนี้...เราอาจเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ที่มี “พาสปอร์ตวัคซีน” เป็นใบเบิกทาง...เข้าไทย ได้ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาแล้ว
แต่เพราะรัฐบาล “ไม่เห็น ไม่คิด และไม่ทำ” ในสิ่งที่ต้องทำ...ผลมันเลยออกมาเป็นเช่นนี้
ผลที่ ทุกคน...ทุกฝ่าย...ทุกธุรกิจ ในประเทศไทย กลายเป็น “ตัวประกัน” ในสงครามที่อ้างว่ากำลังต่อกับโควิดฯ ในรอบนี้