ในวันที่รัฐหย่อนยาน งานเผาตอซังข้าวก็มา สะท้อนการทำงานแบบ “ไฟไหม้ฟาง”..
ลำพังความร้อนท่ามกลางอุณหภูมิระอุแดดกลางเดือนเมษายน ก็ทำเอาร่างกายและจิตใจย่ำแย่ เหงื่อไหลไคลย้อย เสื้อผ้าเปียกชุ่ม อ่อนเพลียละเหี่ยใจกันมากพอแล้ว ยังมีเรื่องของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เข้ามาสมทบ พุ่งเป้าไปที่ระบบทางเดินหายใจ สุขภาพช่วงนี้จึงจัดได้ว่าอยู่ในภาวะอ่อนแอ และมีความเสี่ยงสูงหากติดเชื้อโควิด 19 เข้าไปอีก หากไม่ป้องกันและดูแลสุขภาพดีพอ
ถ้าพูดถึงภาวะเรื่องโลกร้อน อุณหภูมิผันผวนปรวนแปรนั้นต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะจัดการ และยากที่จะเข้าไปควบคุมหรือแก้ไขให้สำเร็จภายในเร็ววัน แต่เรื่องฝุ่นควันที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นตามฤดูกาล และพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบ เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ หาก “หยุด” พฤติกรรม ที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมของคนบางกลุ่ม เช่น เรื่องไฟป่า จุดไฟในพื้นที่ทำเกษตร โดยเฉพาะการเผาอ้อยให้ตัดง่าย เผาตอซังข้าวเพื่อเร่งรอบการทำนาปรังให้เร็วขึ้น
ผู้เขียนขอโฟกัสไปที่เรื่อง “การเผาตอซังข้าว” ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในช่วงนี้ หากใครใช้เส้นทางบางใหญ่ไปสุพรรณบุรี ตลอด 2 ฝั่งข้างทางทั้งขาเข้าและขาออก จะมีนาข้าวที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ตอซังถูกเผาทั้งที่เผาเสร็จไปแล้ว หรือแม้แต่กำลังเผากันกลางแดดเปรี้ยงๆ ก็มีให้พบเห็นเช่นกัน
ร่องรอยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการควบคุมไฟไม่ได้หลังเผาฟางและตอซังข้าวในนา มีทั้งต้นไม้ใหญ่ริมทางที่มีรอยถูกเผาไปด้วย ใบเหี่ยว ลำต้นและกิ่งไหม้ ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในภายหลังหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีร่องรอยของหญ้าข้างทางถูกไฟไหม้เป็นสีดำ ซึ่งคาดเดาได้ว่า ช่วงที่ไฟกำลังลาม คงมีควันจำนวนมากล่องลอยอยู่บนถนน เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุกับผู้ที่สัญจรไปมา
ยิ่งไปกว่านั้น ขนาดนาข้าวที่อยู่ติดกับปั๊มน้ำมันก็ยังหนีไม่พ้นพระเพลิงที่คนมักง่ายจัดให้ ใจคอคนจุดไฟจะต้องห้าวหาญขนาดไหนถึงกล้าเผาตอซังข้าวในผืนนาที่อยู่ติดกับปั๊มน้ำมัน
ถ้าถามว่า ทำไมต้องจุดไฟเผาตอซังข้าว และฟางที่ตกค้างในนาข้าวหลังเก็บเกี่ยวด้วย อันดับแรกคงเป็นเรื่องของการเร่งทำรอบปลูกข้าวนาปรังให้ได้ 3-4 รอบต่อปี ขณะที่นาปีจะเริ่มทำนากันในช่วงเดือนสิงหาคมและเก็บเกี่ยวช่วงเดือนธันวาคม หรือที่พูดกันติดปากว่า “ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ” ซึ่งการทำนาปีไม่ได้เป็นปัญหาเพราะ จะปล่อยให้ตอซังและฟางข้าวย่อยสลาย หรือหว่านพืชตระกูลถั่ว เช่น ปอเทือง แล้วไถกลบเพิ่มแร่ธาตุในดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง
ขณะที่นาปรังซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง จะใช้การเผาเพื่อเร่งรอบให้เร็วขึ้น ไม่รอให้ฟางหรือตอซังผุย่อยสลาย เกี่ยวข้าวเสร็จปุ๊บ เผากันปั๊บทันที แม้ว่าฟางข้าวจะนำมาอัดก้อนขายได้ แต่ก็ไม่อยากรอคิวรถอัดฟางข้าวและเห็นว่าเป็นรายได้อันน้อยนิด
นอกจากนี้ หากไม่เผาตอซังข้าว คนรับจ้างไถนาจะไม่ยอมมาไถให้เพราะอ้างว่าไถยาก รวมไปถึงการเผานาเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่เชื่อกันมาแบบนี้ และก็ไม่ได้คิดกันว่าตัวห้ำตัวเบียนที่ช่วยกำจัดแมลงศัตรูของข้าวตามธรรมชาติจะถูกจำกัดไปด้วย
ผลเสียจากการเผาตอซังข้าว นอกจากจะทำให้เกิดฝุ่น ควัน ละอองเถ้าฟางข้าวที่ถูกเผาเป็นสีดำปลิวว่อนไปไกลสร้างมลพิษในอากาศแล้ว ดินในนาข้าวก็จะเสีย จุลินทรีย์ตายหมด ดินแข็งกระด้าง สุดท้ายเพื่อให้ข้าวเติบโตได้ก็ต้องอัดปุ๋ยเคมีลงไปรอบแล้วรอบเล่า จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมต้นทุนการปลูกข้าวของไทยจึงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และสวนทางกับคุณภาพของข้าวที่ลดลง โรคและแมลงก็มากขึ้นต้องใช้สารเคมีในการกำจัดเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งช่วงนี้ราคาปุ๋ยแพงต้นทุนยิ่งพุ่งสูงขึ้นกันไปใหญ่
ลองมาดูตัวเลขจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA GISTDA เมื่อวันที่ วันที่ 12 มีนาคม 2565 พบจุดความร้อนในไทย 760 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่เกษตร 253 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 206 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 119 จุด พื้นที่เขต สปก. 94 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 85 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 3 จุด
ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม – 12 มีนาคม 2565 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อนจำนวน 10,523 จุด,ภาคเหนือ 9,016 จุด และภาคกลาง 5,513 จุด
ขณะที่ข้อมูลพบจุดความร้อนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 เมษายน 2565 หรือยอดหลังจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือน พบภาคเหนือมีจุดความร้อน 14,401 จุด เพิ่มขึ้น 3,878 จุด หรือเพิ่มขึ้น 36.85% , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12,932 จุด เพิ่มขึ้น 3,916จุด หรือเพิ่มขึ้น 43.43% และภาคกลาง 8,916 จุด เพิ่มขึ้น 3,403 จุด หรือเพิ่มขึ้น 61.06%
จากตัวเลขจะเห็นได้ว่า ระหว่างช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน ในพื้นที่ภาคกลางมีเปอร์เซ็นต์การพบจุดความร้อนเพิ่มสูงสุดถึง 61.06% เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเกี่ยวข้าวนาปรัง จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลขจะพุ่งสูงขนาดนี้
แต่ที่แปลกใจคือ..หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในพื้นที่ ทำไมถึงปล่อยปละละเลยให้เกิดการเผาตอซังข้าวผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเช่นนี้!!!
“ที่ใดมีควันที่นั่นย่อมมีไฟ” จะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นก็คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เพราะพื้นที่ใดเผาตอซังในนาข้าว ถึงจะอยู่ห่างไกลเป็น 10 กิโลเมตร ยังเห็นควันพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ที่สำคัญเผากันในพื้นที่นาข้าวที่ติดถนนทางหลวงกันเกร่อ ยังทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ทั้งที่กฎหมายก็สามารถเอาผิดกับผู้ที่กำจัดเศษซากพืชหรือขยะด้วยวิธีการเผา ตามระดับความรุนแรง โดยมีโทษตั้งแต่เสียค่าปรับไปจนถึงขั้นจำคุก ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ. 2561 ระบุว่า
กรณีมีเหตุรำคาญเกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ เช่น ทำให้เกิดฝุ่นละออง เขม่า หรือเถ้าในที่หรือทางสาธารณะจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้เป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการก่อ หรืออาจก่อเหตุรำคาญดังกล่าวระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้นได้ภายในเวลาอันสมควร ถ้าเห็นสมควรเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถกำหนดในคำสั่งให้ผู้กระทำโดยวิธีใดๆ เพื่อระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญดังกล่าว หรือกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในอนาคตก็ได้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นข้างต้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนกรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในสถานที่ของเอกชน เช่น การจุดไฟเผาตอซังข้าวพืชไร่ หรือเผาป่าในที่ดินของตน เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่ระงับเหตุรำคาญในเวลาอันสมควร และถ้าเห็นสมควรก็สามารถกำหนดวิธีการใดๆ ให้ผู้นั้นปฏิบัติเพื่อระงับเหตุรำคาญนั้นได้ ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นข้างต้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และกรณีเป็นเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง จนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจประกาศกำหนดให้บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตามมาตรา 28/1 ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 74
ในวันที่ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายลดลง ก็เผาตอซังข้าวก็เพิ่มขึ้น ทั้งที่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก สามารถจับจุดความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาเป็นปัจจุบัน ก็แค่สร้างเครือข่ายหรือหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าระงับเหตุ หรือแม้แต่การสร้างแอปพลิเคชัน สร้างไลน์กลุ่ม สร้างเพจ ให้ประชาชนช่วยการแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นการเผาตอซังข้าวก็ทำได้ไม่ยาก
ขณะที่รัฐบาลเน้นไปที่การประชาสัมพันธ์รณรงค์การลดเผาตอซัง และพื้นที่การเกษตรต่างๆ ในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ ไปจำนวนมากและก็ดูจะสูญเปล่า ทั้งที่มีวิธีการใช้งบประมาณหรือแทบไม่ต้องใช้เลยแต่ได้ผลดีกว่าเหมือนที่เสนอข้างต้นแต่ก็ไม่ทำกัน
การทำงานที่ผ่านมาของรัฐบาลเหมือน “ไฟไหม้ฟาง” วูบวาบตามกระแส ช่วงที่สื่อมวลชนหันมาเล่นข่าวพีเอ็ม 2.5 กันมากๆ ก็แห่หามาตรการต่างๆ มาบรรเทากันครั้งหนึ่ง ทั้งการขันน็อต เพิ่มความเข้มงวด ดูเอาจริงเอาจัง ออกสื่อเป็นรายวัน แต่พอสื่อหันไปสนใจข่าวอื่น มาตรการหรือการบังคับใช้กฎหมายก็หย่อนยานลงอย่างเห็นได้ชัด
“มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่รัฐบาลชูเป็นธงนำมาตลอด นับวันก็จะยิ่งห่างไกลไปเรื่อยๆ “ความมั่งคั่ง” ก็จางหายลงกลายเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น “ความยั่งยืน” นี่แทบไม่ต้องพูดถึง แตกต่างจากความเป็นจริงมากในแทบจะทุกเรื่อง การทำงานวิ่งไปตามกระแสเสียส่วนใหญ่ ไม่ได้สร้างรากฐานที่ “มั่นคง” ให้กับประเทศแต่อย่างใด และไม่แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ที่คิดถึงแต่ความมั่นคงในอำนาจของตัวเองมาก่อนประชาชนเสมอ!
นายตือฮวน