ฉับพลันที่นโยบาย ”เปิดประเทศ” มีผลบังคับใช้ แทบไม่เชื่อว่า เพียงแค่ 6 เดือนแรกของปี 2565 ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่พรั่งพรูเข้ามาในประเทศไทย เพิ่มทวีขึ้นเป็นจำนวนมาก จุดประกายความหวังของภาคธุรกิจท่องเที่ยว สว่างวูบขึ้นมาในทันใด อะไรคือปัจจัยสำคัญดังว่า ??
หลังจากรัฐบาลโดย "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ประกาศเปรี้ยง! นโยบาย "เปิดประเทศ" เมื่อวันที่ 1 พ.ค.65 ด้วยการยกเลิก Test and Go เหลือแค่ตรวจ ATK ก่อนจะตามมาด้วย มาตรการผ่อนปรนการเข้าประเทศ เมื่อ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาหมาดๆ โดยไม่ต้องกักตัว และทำอะไรให้ยุ่งยากใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่ให้คงต้องลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass เท่านั้น
ปรากฏว่า มีผลให้เห็นทันตา และแทบไม่น่าเชื่อว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ !
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานจำนวนผู้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ยอดสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม – 1 มิถุนายน 2565 รวม 1,359,056 คน คาดว่า ในช่วงไตรมาส 3 นี้ จะได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 5 แสนคน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้าที่เดือนละ 3 แสน และในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น จะกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึงเดือนละ 1 ล้านคน
ที่สำคัญ นายยุทธศักดิ์ ศุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2565 นี้ ประเทศไทยจะรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้ 7-10 ล้าน คน สร้างรายได้สู่ประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยจะนำผู้ประกอบการภาคเอกชนเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการ 3 ตลาดหลัก ได้แก่ กรุงอัมสเตอร์ดัม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และ กรุงเกนต์ ราชอาณาจักรเบลเยียม และเตรียมบุกตลาดจีนที่คาดว่าจะเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวได้ในช่วงปลายปี
ทั้งหมด เป็นสัญญาณบวกที่จะจุดประกายโชติช่วงชัชวาล ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย หลังซบเซาเป็นเวลานานกว่า 3ปี นับตั้งแต่โควิด-19 คืบคลานเข้ามาเยือนประเทศไทย เมื่อปี 2562 แต่ทว่า ณ เวลานี้ โควิด-19 กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ตามการขับเคลื่อนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหมายถึงเป็นโรคไข้หวัดธรรมดาๆ ไม่ใช่โรคติดอันรุนแรงอย่างที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นายธนกร ย้ำว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ยังติดตามสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศและทั่วโลก ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพื่อเตรียมพร้อมปรับมาตรการให้สอดคล้องกับพัฒนาการของโรคระบาด และขอให้คนในประเทศยังต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่รัฐบาลและ ศบค. กำหนด
ล่าสุด เมื่อ วันที่ 5 มิ.ย.2565 ศบค. รายงานสถานการณ์การติดเชื้อประจำวัน พบผู้ป่วยใหม่ 3,236 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 3,234 ราย จากต่างประเทศ 2 ราย หายป่วยกลับบ้าน 5,011 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 32,253 ราย เสียชีวิต 28 ราย เสียชีวิตสะสม 8,473 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 775 ราย ขณะที่มียอดตัวเลขคนไทยที่ได้รับวัคซีนมาแล้วทั้งหมด 138,143,639 ราย
ตัวเลขทั้งหมดหมายว่าอย่างไร 1. ผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลงทุกวัน 2. ตัวเลขผู้หายป่วยมีมากกว่าติดเชื้อใหม่ 3. ผู้ป่วยที่กำลังรักษา พบว่าอยู่ในกลุ่ม 608 หรือผู้สูงอายุ ไม่ใช่วัยหนุ่มสาว แสดงว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป และ สุดท้าย 4. จำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม มีมากกว่า 60%
"ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่ำกว่า 5,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงต่ำกว่า 50 รายต่อวัน การฉีดวัคซีนโควิด 19 ทำได้ดี โดยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 137 ล้านโดส และการฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาประเทศ ว่าบริหารจัดการโรคระบาดได้ดี " นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยความดีใจ
ดังนั้น เมื่อภาพรวมการแพร่ระบาดโควิด-19 ลดลง สิ่งที่ตามมา คือ แสงสว่างของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ดังจะเห็นได้จากตั๋วเข้าชม การแสดงอัลคาซ่าร์ คาบาเร่ต์ที่พัทยา ประเดิมรอบแรกเต็มหมดทุกที่นั่ง หรือภาพนักท่องเที่ยวเฮโลไปเที่ยว สะพานมอญ สะพานไม้ที่ยาวที่สุด ที่สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
ขณะที่ภาครัฐ โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เตรียมพร้อมลงพื้นที่ตรวจความพร้อมสนามบินสุวรรณภูมิ ตามนโยบาย นายกฯ ให้บริการและอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร หลังปรับมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศไทย 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ด้านผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยว มีความเคลื่อนไหวอย่างไร!
เริ่มจาก สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ ATTA นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาฯ ATTA ประเมินว่า ครึ่งปีหลังนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย จะมาจากประเทศอินเดีย กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป จะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางเข้ามามากขึ้น เนื่องจากตรงกับช่วงฤดูหนาวของทวีปยุโรป ส่วนนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อาจเดินทางเข้ามามากขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เชื่อว่าหลังจากนี้นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามามากขึ้น มีความหลากหลายยิ่งขึ้น และหลังจากเปิดด่านชายแดนนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านจะหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นด้วย
แต่ปัญหาที่ตามมาคือ “หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก ผู้ประกอบการหลายรายได้เลิกจ้างพนักงานไป ทำให้แรงงานภาคการท่องเที่ยวออกจากระบบไป แต่ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มกลับมาเปิดรับพนักงานอีกครั้ง ปัญหาที่พบคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวขาดแคลนแรงงาน” นายอดิษฐ์ กล่าวอย่างกังวล
ทางด้าน นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย ระบุว่า หลังประเทศไทยปลดล็อก Test&Go ก็ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้น จากวันละราว 10,000-12,000 คน เป็น 15,000-16,000 คน แต่ยังไม่เพิ่มแบบก้าวกระโดด โดยในขณะนี้ มีคนที่ลงทะเบียนมาเที่ยวในประเทศไทย ราว 2.5 ล้านคน
หากเดือนนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมา 4 แสนคนอย่างที่มีการคาดการณ์ ในช่วงโลว์ซีซั่น และเมื่อถึงไฮซีซั่น ประมาณปลายปีเดือนตุลาคม-ธันวาคม คาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวระดับล้านคน ก็หวังว่าปีนี้จะจบด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวประมาณ 6-8 ล้านคน ขณะที่ปีหน้าทางธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 19 ล้านคน ปีหน้าก็จะเป็น “ปีให้การฟื้นตัว” สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว
โดยพบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยในช่วงนี้ คือ ชาวอินเดีย เพราะประชากรที่มีจำนวนมาก อีกทั้งไม่ได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจ การบริโภคในประเทศยังดี และไทยถือเป็นประเทศท่องเที่ยวยอดนิยมมากที่สุดในเอเชีย สิ่งที่นิยมมากในไทย คือ การจัดทริปแต่งงาน จัดงานแต่ละครั้งใช้เวลา 3-5 นอกจากนี้ยังมีทริปงานเลี้ยงสัมมนา หรือ ฉลองความสำเร็จต่างๆ
สาเหตุเพราะการเดินทางเข้าประเทศไทยง่ายขึ้น มีเครื่องเช่าเหมาลำ เมื่อก่อนเราพึ่งจีน แต่ปัจจุบันจีนไม่มา เราก็ต้องหันพึ่งอินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้
ส่วนคนญี่ปุ่น เริ่มกลับมาแล้ว แม้ตัวเลขจะไม่เทียบเท่ากับชาติอื่นๆ แต่ก็มีสัญญาณดีขึ้น คนญี่ปุ่นชอบประเทศไทย เช่นเดียวกัน ชาวตะวันออกกลางที่เดินทางมาไทย หมุดหมาย คือ การช็อปปิ้ง และการดูแลสุขภาพ
“ประการสำคัญที่อยากเสนอต่อภาครัฐ คือ อยากให้ต่อโครงการเที่ยวด้วยกัน ซึ่งล่าสุด ครม.ได้อนุมัติแล้ว 1 ล้านสิทธิ์ ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะเชื่อว่าอีก 2 ปีข้างหน้าต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวไทย อีกทั้งจำเป็นที่ภาครัฐต้องเพิ่มแรงกระตุ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจทำให้คนไทยมีกำลังซื้อน้อยลง หากได้สิทธิ์ เที่ยวด้วยกัน เพิ่ม ก็จะส่งผลดีกับทางโรงแรม ที่ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้”
สุดท้าย ประเมินสถานการณ์อย่างไร กับความหวังครั้งนี้ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวสั้นๆอย่างมีหวัง ว่า "คงต้องรอดู หลังจากนี้จนถึงสิ้นปี ถ้าเป็นอย่างที่หวัง ปีหน้าก็คงจะดีขึ้น และจะเป็นปีแห่งการพลิกฟื้นอย่างที่ทุกคนคาดหวัง" และย่อมเป็นความคาดหวังของทุกฝ่ายในประเทศไทย เช่นเดียวกัน!