กรมการขนส่งทางราง หารือญี่ปุ่น เรื่องความเหมาะสมทางเศรษฐกิจโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ – พิษณุโลก)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมหารือด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายอธิภู จิตรานุเคราห์ รองอธิบดี และผู้แทนฝ่ายไทย ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การรถไฟแห่งประเทศไทย
และผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณาผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน ของโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ฉบับสมบูรณ์ รวมถึงความร่วมมือในอนาคต ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมต่อเนื่องจากการประชุมด้านเทคนิคฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม พบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – พิษณุโลก มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ร้อยละ 17.3 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 12 โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เป็นบวกตลอดระยะเวลาดำเนินการ จึงก่อให้เกิดความคุ้มค่าในด้านเศรษฐศาสตร์ นับตั้งแต่ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (Memorandum of Cooperation : MOC) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
โดยฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้ตกลงร่วมกันในการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะแรก ในเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร รวมถึงเส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่ในอนาคต โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศไทย การประชุมในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและมิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ และนำไปสู่ความสำเร็จของการดำเนินโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป