ขณะที่ถนนทุกสายเดินเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง หลังนายกฯ "ลุงตู่" ประกาศยุบสภาฯ เอานาทีสุดท้ายก่อนครบวาระ 4 ปี พรรคการเมืองต่างๆ ต่างตีฆ้องร้องป่าวชูนโยบายเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงจากประชาชนกันอย่างเอาเป็นเอาตาย
และดูเหมือนแต่ละพรรคต่างพยายามปลุกผีเอานโยบาย “ประชานิยม” ออกมาหาเสียงกันสุดลิ่ม และ “เกทับบลั๊ฟแหลก” กระเป๋าแหกกันไปข้าง
เป็นต้นว่า ค่าไฟราคาถูก 2.50 บาท/หน่วย ช่วยค่าไฟ 3,500 บาท หรือแจกโซลาร์เซลทุกครัวเรือน ตั้งกองทุนฉุกเฉินทุกชุมชนหมู่บ้านๆ ละ 3-5 ล้าน บำนาญผู้สูงอายุที่นั้นแจก 1,000 พรรคนี้เบิ้ลไป 2,000 อีกพรรคจัดให้ไปเต็มคาราเบล 3,500 บาทไปเลย
ทำเอาพรรคการเมืองต้นตำรับ “Original ประชานิยม” มาก่อน ยังได้แต่ “อึ้งกิมกี่” คาดไม่ถึงว่าปลายทางนโยบายที่ตนเองจุดประกายเอาไว้จะเดินมาไกลถึงเพียงนี้!
แต่ก็อย่างที่ “แก่ง หินเพิง” เคยตอกย้ำมาโดยตลอด “โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี” No free Lunch เมื่อมีคนได้ (Take) ก็ต้องมีคนจ่าย/เสีย (Pay-Lost) แม้แต่อากาศธาตุที่บริสุทธิ์สดชื่น ก็ยังต้องแลกมาด้วยการอนุรักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อม หากไปปล่อยให้ชาวนา ชาวไร่ไปเผาป่า เผาไร่ มันก็ต้องได้ละอองฝุ่น PM 2.5 เป็นการตอบแทน
นโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถมสารพัดที่งัดกันออกมาเกทับบลั๊ฟแหลก หว่านเม็ดเงินภาษีกันลงไปโดยไม่ลืมหูลืมตานั้น ผลเป็นอย่างไรก็อย่างที่ประจักษ์กัน ทั้งค่าโดยสาร ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเอฟทีล่าสุดพุ่งกระฉูดจนสำลัก ทำเอาชาวบ้านร้านรวงและโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม "หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง" กันอย่างทีเห็น
ทั้งหมดล้วนมาจากนโยบายประชานิยมสุดลิ่ม ไม่ลืมหูลืมตาและไม่ดูสถานะการเงินการคลังของตัวเองทั้งนั้นแหล่ะ
กับเรื่องที่จั่วหัวไว้ ที่จะว่าไปก็ถือเป็นอีกนโนบายประชานิยมที่ผู้คนอยากเห็น และเฝ้าชะเง้อรอกันมานาน แถมยังเป็นเรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานทำได้เลยด้วยซ้ำ
ก็เรื่องของ "ค่าการตลาด" น้ำมันของผู้ค้าที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ มีมติเห็นชอบให้ผู้ค้าน้ำมันกลับไปใช้ค่าการตลาดในอัตราปกติ ทั้งในกลุ่มเบนซินและดีเซลหลังจากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น โดยนัยว่า จะส่งผลให้ราคาขายปลีกกลุ่มเบนซินลดลงได้อีก 0.90-1.20 บาท/ลิตร
แต่ผ่านมาวันนี้กว่า 42 วันเข้าไปแล้ว ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนก็ยังคงต้องจ่ายค่าน้ำมันกันหูตูบ ไม่เห็นราคาน้ำมันที่ว่าจะปรับลดลงแต่อย่างใด
วันวาน เหลือบไปเห็นข่าว นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ออกมาวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ ที่คงอ่อนตัวลงต่ำกว่าปีที่แล้ว ไม่น่าจะกลับมาพีคเหมือนปีก่อน
โดยไตรมาสแรกของปีนี้ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถ้าไม่มีปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้ ราคาน้ำมันจะกลับเป็นปกติในช่วงกลางปี เพราะคนใช้น้อย และปลายปีราคาอาจจะสูงขึ้นเพราะหน้าหนาวคนใช้พลังงานมาก แต่ขึ้นอยู่กับน้ำมันแต่ละชนิดด้วย เช่น เบนซินจะสูงช่วงเดือนกรกฎาคม ส่วนดีเซลจะสูงช่วงปลายปี
“แม้ทั้งปีนี้ราคาน้ำมันจะถูกกว่าปีที่แล้ว แต่ราคาขายปลีกในบ้านเรายังมีปัจจัยเพิ่มทำให้ราคาน้ำมันอาจจะไม่ลงเร็วอย่างที่ต้องการ เพราะโครงสร้างราคาน้ำมันบ้านเรายังมีกองทุนน้ำมันที่ยังติดลบ 80,000 ล้านบาท และภาษีสรรพสามิตมาเกี่ยวข้องด้วย อย่างเมื่อปีที่แล้วพอราคาน้ำมันสูงมาก รัฐลดภาษีเพื่อไม่ให้ราคาสูงไปมาก ปัจจุบันยังลดอยู่ในอัตราที่ต่ำ ไม่ใช่อัตราปกติ ถ้าต้นทุนราคาน้ำมันลง อาจจะกลับมาเก็บ” นายอรรถพลกล่าว
นายอรรถพล กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 นี้ ทาง ปตท. จะตรึงราคาขายปลีกน้ำมัน เพื่อช่วยบรรเทาภาระผู้บริโภคในการเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาในวันหยุดยาว และหากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ปตท.ก็พร้อมจะปรับลดราคาลงด้วยเช่นกัน
เห็นสิ่งที่ผู้บริหาร ปตท. ออกมาให้สัญญากับประชาชนแล้วก็ให้นึกย้อนไปถึงมติ “กบง." ที่ว่านี้ ซึ่งในรายละเอียดนั้น ระบุเอาไว้ขัดเจนว่า จะให้ผู้ค้าน้ำมันปรับลดค่าการตลาดใหม่ให้เกิดความเหมาะสม หลังจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีกจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 แล้ว
ประกอบกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนบัญชีน้ำมันมีรายรับประมาณ 516 ล้านบาทต่อวัน (หรือ 14,455 ล้านบาทต่อเดือน) ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมันมีฐานะติดลบน้อยลง ที่ประชุม กบง. จึงมีมติให้ปรับลดค่าการตลาดน้ำมันให้เหมาะสม โดยปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลับสู่สภาวะปกติตามปี 2563 ทั้งกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และกลุ่มน้ำมันเบนซิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร
โดยเฉพาะดีเซลที่เดิมได้ขอให้ผู้ค้าคุมไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีรายรับในส่วนของน้ำมันดีเซลลดลงเป็นประมาณ 37.23 ล้านบาทต่อวัน (หรือประมาณ 1,117 ล้านบาทต่อเดือน) แต่จะทำให้ราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินปรับลดลงประมาณ 0.90 - 1.20 บาทต่อลิตรได้
ที่ผ่านมานั้น ผู้ค้าน้ำมันถูกขอความร่วมมือให้คุมค่าการตลาดดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ทำให้ผู้ค้าหันไปปรับเพิ่มค่าการตลาดกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ เกินกว่า 2.00 บาทต่อลิตร เพื่อมาถัวเฉลี่ย จนก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้กลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์มาโดยตลอด
แต่เมื่อ กบง. มีมิติให้ลูกค้าน้ำมันในกลุ่มดีเซลปรับเพิ่มค่าการตลาดลงไปอยู่ในระดับเดิมแล้ว ก็สมควรจะปรับค่าการตลาดในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ให้กลับไปอยู่ระดับปกติด้วยเช่นกัน โดย กบง. ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปตามมติของ กบง.
แต่ก็อย่างที่ทุกฝ่ายรับรู้กันจนวันนี้ผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งก็คงรวมทั้ง ปตท. ด้วย กลับยังคงนิ่งเฉยต่อมติ กบง. ที่ว่านี้ โดยที่กระทรวงพลังงานเอง ก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไปซะงั้น จะโยนให้เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเข้ามาขับเคลื่อนเอาเอง
ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า จะต้องทอดยาวไปอีกกว่า 5-7 เดือน เผลอๆ อาจลากยาวกันไปเป็นปี เพราะไม่มีใครรู้ว่า กว่ากระบวนการเลือกตั้งและฟอร์มรัฐบาลใหม่จะแล้วเสร็จนั้น จะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะยังคงมีข่าวแว่วๆ ๆ ๆ ๆ มาโดยตลอดว่า อาจจะมีการลากยาวกระบวนการเลือกตั้ง และเปิดทางให้นายกฯ ลุงตู่ ยังคงทำหน้าที่รักษาการกันจนลากงอก 1-2 ปีไปโน่น แบบ "อะไรก็เกิดขึ้นได้"
อีแบบนี้ ก็เท่ากับเปิดทางให้ผู้ค้าน้ำมันฟันกำรี้กำไรกันจนสำลัก จริงไม่จริง!
แก่ง หินเพิง