ไม่รู้ว่าอดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ซึ่งได้รับเงินเดือนๆ ละหลายแสนบาทในช่วงที่มีตำแหน่งแห่งหน รวมทั้งนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ “ทีดีอาร์ไอ” ที่ออกมาคัดค้านโครงการแจกเงินดิจิทัลให้กับทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่จะใช้งบราวๆ 5.6 แสนล้านบาท ทำครั้งเดียวจบ! ไม่แจกแบบเบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะไปเรื่อย!
ทราบกันหรือยังว่า การที่ประเทศไทยปล่อยให้มีรัฐประหารบ่อยๆ ยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน 9 ปี ได้สะท้อนผลงานออกมาอย่างยอดแย่! ด้วยอันดับที่ 7 ในโลก ของประเทศที่มีหนี้สินครัวเรือนต่อ “จีดีพี” สูงปรี๊ด! นี่คือข้อมูลจาก “Trading Economics”
ประเทศไทยธรรมดาเสียที่ไหน เนื่องจากเป็นอันดับ 7 ของโลก ท่ามกลางประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งนั้น คือ 1. สวิตเซอร์แลนด์ 2. ออสเตรเลีย 3. แคนนาดา 4. เกาหลีใต้ 5. ฮ่องกง 6. นิวซีแลนด์ 7. ไทย (หนี้ครัวเรือน 91.6% ต่อจีดีพี) 8. สวีเดน 9. เดนมาร์ก 10. สหราชอาณาจักร
เรียกว่าประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนติดอยู่อันดับ “ท็อป เท็น” แต่รายได้ประชากร/หัว/ปี ห่างชั้นกับประเทศในข้างต้นเยอะมาก ดังนั้น โอกาสในการชำระหนี้ของคนไทยจึงเหนื่อยมาก กับภาระหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 66 มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท (ข้อมูล : สภาพัฒน์)
ช่วงปลายเดือน ก.ย.66 มีหลายหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ-การเงิน ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ปรับประมาณการ “จีดีพี” ตลอดทั้งปี 66 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมที่คาดกันไว้ในระดับ 3.3-3.6% แล้วปี 67 เศรษฐกิจจะดีขึ้นได้อย่างไร?
ขณะที่อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติและคณะนักวิชาการที่ออกมาค้านแจกเงินดิจิทัล กลับมองว่า ปีหน้าเศรษฐกิจจะฟื้น จึงไม่ต้องแจกเงินดิจิทัลแล้ว คือ มองโลกสวยงาม แต่สวนทางกับความเป็นจริง ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อ และกำลังจมอยู่กับ “กองหนี้” เพราะช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศไทยโตรั้งท้ายในอาเซียนทุกปี ตั้งแต่ก่อนการระบาดโควิด-19 ด้วยซ้ำไป
ดังนั้น นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน อดีตนักธุรกิจแสนล้านบาท จึงต้องการทำโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลา 6 เดือน พร้อมกันทั่วประเทศ โดยการส่งตรงเงินดิจิทัลไปถึงมือประชาชน เพื่อการใช้จ่ายอะไรได้บ้าง ภายในรัศมีจากบ้านพักอาศัย จะกี่กิโลเมตรก็ว่ากันไป
นายเศรษฐาจะทำเพียงครั้งเดียว ไม่กระจายเงินผ่านโครงการก่อสร้าง ผ่านผู้รับเหมาเหมือนในอดีต มันช้า! ไม่ทันการณ์! ครั้นจะแจกแบบเบี้ยหัวแตกเหมือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทีละพัน สองพันบาท ยิ่งแจกยิ่งจน แจกไม่รู้กี่โครงการ แต่ไม่ได้กระตุกกำลังซื้อขึ้นมาเลย
ดังนั้น จึงต้องใช้วิธี (โครงการ) ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยบ้าง แล้วจะเอาเงินจากไหน 5.6 แสนล้านบาท คำตอบคือเงินก้อนนี้ไม่ได้ควักจ่ายทีเดียว แต่เป็นการทยอยจ่าย จากเงินที่ดึงมาจากสถาบันการเงินของรัฐ จำนวน 4 ปี ก็ทยอยจ่ายใช้คืนไปปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอยู่แล้ว
ก่อนการเลือกตั้งเดือน พ.ค.66 คนไทยทราบดี เพราะสื่อมวลชนหลายสำนักรายงานว่า นโยบายต่างๆ ของพรรคเพื่อไทยที่ใช้หาเสียง ใช้เงินน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ
ไม่ต้องอื่นไกล นโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะแจกเงินสวัสดิการผู้สูงอายุคนละ 3,000 บาท/เดือน นั่นหมายถึงต้องจ่าย 36,000 บาท/คน/ปี กับจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน ต้องใช้งบเพื่อโครงการนี้ปีละ 4.32 แสนล้านบาท ถ้า 4 ปี เป็นเงิน 1.72 ล้านล้านบาท ไม่หนักหน่วงและมือเติบกว่าพรรคเพื่อไทยอีกหรือ?
ลองคิดกันเล่นๆ ระหว่าง นายเศรษฐา กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ใครมีศักยภาพในการหาเงินมากกว่ากัน? ใครมีศักยภาพในการชำระหนี้มากกว่ากัน? ระหว่างสองคนนี้ใครไปเจรจาค้าขาย-เชิญชวนคนต่างประเทศมาลงทุนเก่งกว่ากัน?
แต่ที่แน่ๆ กับ 3 คำถามข้างต้น นายเศรษฐามีศักยภาพมากกว่าพล.อ.ประยุทธ์...ชัวร์!!
เสือออนไลน์