ปลายเดือน ม.ค.นี้ คงมีตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จึดีพี) ในปี 66 ของประเทศไทยออกมา หลังจากจีดีพี 9 เดือนของปี 66 ยังโตต่ำแค่ 1.9% ขณะที่หลายประเทศอาเซียน จีดีพีโตมากกว่าไทยเกิน 2 เท่า
ทางด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ประเมินว่า “จีดีพี” ของไทยทั้งปี 66 จะอยู่ที่ 2.8% ส่วนทั้งปี 67 จะขยายตัวประมาณ 4.4%
โดย 4.4% ที่ว่านี้ รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ถ้าไม่มีโครงการดังกล่าวจีดีพีทั้งปี 67 คงไม่ถึง 4.4% อย่างแน่นอน
ปัจจุบันแบงก์ชาติกำลังกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” เกี่ยวกับ “นโยบายทางการเงิน” เนื่องจากตั้งแต่เดือน ส.ค. 65 จนถึงปัจจุบัน แบงก์ชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปมากถึง 8 ครั้ง จากระดับ 0.50% มาสู่ 2.50% โดยให้เหตุผลว่าต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เคยแตะระดับสูงสุด 8%
ในปี 65 และการขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น จึงทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ
แต่หลังจากเดือน ส.ค. 65 จนถึงปัจจุบัน ก็เห็นแล้วว่า เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร จีดีพียังขยายตัวต่ำ รายได้ของคนส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเพียงพอกับรายจ่าย เห็นได้ชัดเจนมากกับกรณีการปรับค่าแรงขั้นต่ำรายวัน 2 ครั้ง 2 ปี ปรับขึ้นมา 8-22 บาท/วัน และ 2-16 บาท/วัน
ที่น่าห่วง คือ ปัญหาหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นไปถึง 11.12 ล้านล้านบาท (31 ต.ค. 66) หรือ 62.1% ของจีดีพี รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณปี 67 เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320 ล้านบาท และชำระคืนดอกเบี้ย 228,060 ล้านบาท ส่วนหนี้ครัวเรือนขยับไปถึง 16.5 ล้านล้านบาท (กว่า 90% ของจีดีพี)
ไหน! แบงก์ชาติบอกว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น
แต่กลับมีข่าวบริษัทขนาดใหญ่กำลังมีปัญหา “หุ้นกู้” ผิดชำระหนี้ โดยปี 67 มีหุ้นกู้ครบกำหนดประมาณ 1 ล้านล้านบาท เพราะ 8-9 ปี ที่ผ่านมาเศรษฐกิจ-การลงทุน ไม่ดีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ปัญหาต่างๆ จึงเริ่มโผล่ขึ้นมาในปีนี้
คนส่วนใหญ่ของประเทศ 80-90% รวมทั้งบริษัทห้างร้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลำบากกันทั่วหน้า แต่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ กลับฟันกำไรในปี 66 มากมายถึง 2.2 แสนล้านบาท
คนส่วนใหญ่เจอปัญหา “ดอกเบี้ยแพง” ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ เพราะดอกเบี้ยแพงสวนทางกับจีดีพี-เงินเฟ้อ-รายได้
จากข้อมูลเดือน ม.ค. 67 ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำอยู่ที่ 1.6 - 1.75% แต่ดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 7.30 - 7.57% ทำไมช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก กับดอกเบี้ยเงินกู้จึงห่างกันมากกว่า 5-6% ส่วนคนที่มีเงินฝากกินดอกเบี้ย แต่เจอปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงและภาวะเงินเฟ้อ จึงไม่เหลืออะไรเลย
ส่วนคนที่เป็นหนี้ครัวเรือนรวมกัน 16.5 ล้านล้านบาท ถ้าต้องจ่ายดอกเบี้ย 7% ต่อปี คิดเป็นภาระดอกเบี้ยเดือนละ 9.62 หมื่นล้านบาท หรือปีละ 1.15 ล้านล้านบาท คนไทยส่วนใหญ่ต้องทำมาหากินกันหนักขนาดไหน และจีดีพีต้องขยายตัวปีละเท่าไหร่? ถึงจะมีเงินมาจ่ายดอกเบี้ยเดือนละเกือบ 1 แสนล้านบาท
ตอนนี้ภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทยติดลบมาแล้ว 3 เดือน คาดว่า เดือน ม.ค.67 น่าจะติดลบอีก ขณะที่หลายองค์กรทางด้านเศรษฐกิจกำลังหวั่นเกรงว่าจะเกิดปัญหาเงินฝืด! ในช่วงไตรมาส 2/67 (เม.ย. - มิ.ย.) ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายคนบ่นๆ ว่า คนกู้ซื้อบ้านตั้งแต่ราคา 2-5 ล้านบาท กู้ผ่านยาก! เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดเป็นพิเศษ
ดังนั้น จากปัญหาเงินเฟ้อ เงินฝืด และ “ดอกเบี้ยนโยบาย” แพง! ทำให้คนส่วนใหญ่ยังโงหัวไม่ขึ้น! ดังนั้นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่าง “ดิจิทัล วอลเล็ต” 5 แสนล้านบาท เพียงแค่โครงการเดียว อาจจะเอาไม่อยู่เสียแล้ว!
เสือออนไลน์