วันที่ 20-22 มี.ค. 67 สภาผู้แทนราษฎรมีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
เมื่อผ่านในชั้นนี้แล้ว จะไปสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในขั้นตอนต่อไป ดังนั้น กว่างบประมาณปี 67 จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย คงราวๆ ปลายเดือน เม.ย. หรือไม่ก็ต้นเดือน พ.ค.67 ซึ่งถือว่าล่าช้ามาก และกว่าจะมีการใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างของกรม-กระทรวงต่างๆ จะยาวไปถึงปลายๆ พ.ค.-มิ.ย. 67 ซึ่งเหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะถึงวันที่ 30 ก.ย.67 สิ้นสุดปีงบประมาณ 67
จากงบประมาณปี 67 ที่เหลือระยะเวลาการใช้จ่ายสั้นมาก ตอนนี้จึงมีคนในกระทวงการคลังกระซิบว่า รัฐบาลสามารถตัดงบต่างๆ โน่นนี่ได้แล้วกว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อนำมาทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่ใช้เงินราวๆ 5.5 แสนล้านบาท โดยไม่ต้องออก “พ.ร.บ.กู้เงิน”
โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ยังมีความจำเป็นมากๆ เพื่อการใส่เม็ดเงินลงไปกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “วิกฤติกำลังซื้อ”
ยังไม่ทันจะผ่านพ้นไตรมาส 1/67 แต่หลายสำนักเศรษฐกิจได้ทยอยปรับลด “จีดีพี” ในปี 67 กันเป็นแถว หลังจากเคยคาดการณ์ว่า จีดีพีเฉลี่ยทั้งปี 67 จะโตไม่ต่ำกว่า 2.7% (ไม่รวมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต) แต่ตอนนี้ปรับลดลงมาเหลือราวๆ 2.2-2.3% เท่านั้น
สาเหตุเป็นเพราะอะไร? เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งประเทศ 16.2 ล้านล้านบาท ที่โผล่ขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 3/2566 คนส่วนใหญ่ยากจนเป็นหนี้สะสมต่อเนื่องกันมา 8 ปี จากปัญหาเศรษฐกิจซบเซา จีดีพีขยายตัวต่ำอย่างต่อเนื่อง หลังการรัฐประหารในปี 57 จีดีพีโตเฉลี่ยไม่ถึง 2% ต่อปี อยู่ในอันดับท้ายๆของกลุ่มประเทศอาเซียน แถมมาเจอปัญหาการระบาดของโควิด-19 อีก 3 ปี
แต่เมื่อโควิด-19 คลี่คลายไปแล้ว เศรษฐกิจของหลายประเทศในโลกฟื้นตัวเร็ว แต่ไทยกลับฟื้นตัวช้า! จากปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงกว่า 90% ของจีดีพี และปัญหาดอกเบี้ยแพง! ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) โดยมีช่วงห่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก-ดอกเบี้ยเงินกู้ มากกว่า 4-5% คนส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในสภาพทำงานหารายได้มาใช้หนี้ มากกว่าการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน
ไม่ต้องมองอื่นไกล บรรดาข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่การงานมั่นคง ไม่ต้องเสียวสันหลังกับเรื่องตกงาน-ถูกลดเงินเดือน ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แต่ก็แบกหนี้สินไว้กันเพียบเหมือนกัน ดังนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จึงต้องจัดโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ-หนี้ในระบบ ครอบคลุมมายังข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจด้วย
โดยให้สหกรณ์ออมทรัพย์ปรับลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ โดยการหักหนี้แล้วต้องให้บรรดาข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ เหลือเงินไว้จับจ่ายใช้สอยเพื่อการดำรงชีพในแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 30%
อีกตัวชี้วัด “กำลังซื้อ” คือ ข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับยอดการผลิตรถยนต์เดือน ม.ค. 67 มีการผลิตรถยนต์รวมทุกประเภท 142,102 คัน ลดลงจากเดือน ม.ค. 66 คิดเป็น 12.46% เนื่องจากผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 33.62% โดยเฉพาะการผลิตรถกระบะเพื่อขายในประเทศลดลงถึง 50.89% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะหนี้ครัวเรือนยังคงสูง
ขณะที่ สถานการณ์การยึดรถเข้าลานประมูลโดยปกติเฉลี่ย 150,000-180,000 คันต่อปี แต่ปลายปี 66 เพิ่มขึ้นถึง 250,000-300,000 คันต่อปี (เพิ่มขึ้น 35%) สะท้อนมาจากลูกหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น รถถูกยึดสูงขึ้น เนื่องจากลูกหนี้กำลังผ่อนชำระกันไม่ไหว
ทางด้าน สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มองว่า เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้สินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะคนที่ซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีรายได้ไม่เพียงพอผ่อนจ่ายหนี้ เสี่ยงจะเกิดหนี้เสียเพิ่มเมื่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง ทำให้ธนาคารเข้มงวดปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านเดือน ก.พ. 67 เพิ่มขึ้นถึง 60-70% จากเดิมกระทบเฉพาะคนที่ซื้อบ้านต่ำกว่าราคา 3 ล้านบาท กำลังลามไปยังบ้านราคา 5 ล้านบาท ขอกู้ผ่านยากขึ้น!
นี่คือ..”วิกฤติกำลังซื้อ” ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศ และถ้าไม่มีเม็ดเงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มาใส่มือประชาชน สถานการณ์เศรษฐกิจจะยืดเยื้อ ซึมยาวต่อไปอีก
จริงหรือไม่จริง?
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ต้องไปเดินสำรวจบรรยากาศตามตลาดนัด ตลาดสด ไปคุยกับพ่อค้า แม่ค้า และชาวบ้านทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แล้วจะรู้ว่าสภาพเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ของคนส่วนใหญ่เป็นเช่นไร!!
เสือออนไลน์