โอ่ผลงาน “ชิ้นโบแดง” ให้ผู้ใช้ทางด่วนและประชาชนคนไทยได้ดีใจหาย .....
เรื่องที่ “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม ออกมาตีปี๊บข่าวดีสำหรับผู้ใช้ทางด่วน เมื่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ สนข. กำลังเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เอกชนผู้รับสัมปทาน ที่จะปรับลดค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ลงจากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ 25- 65 บาท เหลือไม่เกิน 50 บาทเท่านั้น โดยจะดำเนินการกับทางด่วนขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน - พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร (กม.) เนื่องจากมีผู้ใช้ทางเป็นจำนวนมาก
สำหรับโครงสร้างอัตราค่าผ่านทางใหม่ที่จะมีการปรับลดจะเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากในจจุบัน 25 - 90 บาท โดยจะยกเลิกการจัดเก็บค่าผ่านทางที่ด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) จากเดิมที่จัดเก็บค่าผ่านทาง 25 บาท ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) จะปรับลดค่าผ่านทางจากเดิม 65 บาท ลดเหลือ 50 บาท ขณะที่ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิม 50 บาท จะปรับลดเหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) 25 บาท โดยจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน ก่อนเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป
แลกขยายสัมปทาน - ปรับส่วนแบ่งรายได้
อย่างไรก็ตาม นายสุริยะ ยอมรับว่า การปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าว จะทำให้รายได้ของผู้รับสัมปทานลดลง ดังนั้น กทพ. จึงมีแนวทางขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ในระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 ตุลาคม 2578
พร้อมพิจารณาปรับส่วนแบ่งรายได้ใหม่จากเดิมที่ กทพ. มีสัดส่วนรายได้ 60% เอกชน 40% เพื่อนำไปชดเชยให้กับผู้รับสัมปทาน ขณะเดียวกันทาง BEM ยังต้องรับภาระในการลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) วงเงินลงทุนราว 3.45 หมื่นล้านบาทด้วย
“ขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อ กทพ. หารือร่วมกับ สนข. และ BEM จนได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนับจากนี้ กทพ. จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. พิจารณาเห็นชอบแนวทางการปรับลดค่าผ่านทาง รวมทั้งการขยายสัญญาสัมปทาน, การปรับสัดส่วนรายได้ ก่อนจะเสนอไปยังคณะกรรมการ มาตรา 43 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 พิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญาสัมปทาน”
คำถามที่ต้องถามไปยังท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมต.คมนาคม และรัฐบาล ก็คือ สิ่งที่ กทพ. และกระทรวงคมนาคมกำลัง “ตั้งแท่น” ดำเนินการอยู่นี้ ประเทศชาติและประชาชนคนไทยได้ประโยชน์แน่หรือ
เป็นการปรับลดค่าผ่านทางเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ทางด่วนแน่หรือ ?
หนังม้วนเก่า ลดค่าผ่านทางแลกสัมปทาน 5 แสนล้าน
หากรัฐบาลและหน่วยงานตรวจสอบในสามโลกยินยอมให้ กทพ. และกระทรวงคมนาคม “ลักไก่” แก้ไข และขยายสัญญาสัมปทาน “ทางด่วนขั้น 1 และ 2” ให้แก่คู่สัญญาเอกชนรายเดิมออกไปอีก 15-20 ปี (ตามผลศึกษาที่มีการซุ่มทำเอาไว้แล้ว) เพื่อแลกกับการให้เอกชนลงทุนทางด่วนยกระดับ Double deck วงเงินแค่ 3.45 หมื่นล้าน (ที่ กทพ. มีปัญญาลงทุนได้อยู่แล้ว) รวมทั้งการปรับลดค่าผ่านทางด่วน ลง 15-25 บาท
ซึ่งเนื้อแท้ของการปรับลดค่าผ่านทางที่ว่า ก็หาใช่บริษัทเอกชนจะเป็นผู้แบกภาระ ตรงกันข้ามวงเงินที่ปรับลดลงไปดังกล่าว จะมีการชดเชยให้แก่เอกชนคู่สัญญาผ่านการปรับส่วนแบ่งรายได้ระหว่าง กทพ. และ BEM ใหม่
ผลกระทบที่จะเกิดตามมา ก็คือ ประชาชนผู้ใช้ทางจะถูก “มัดมือชก” โขกค่าผ่านทางที่ แพง แพง แพง ในสามโลกไปตลอดศก หรืออย่างน้อยก็ 15-20 ปีหลังสิ้นสุดสัญญาในปี 2578 โดยที่ค่าผ่านทางที่ปรับลดให้ไปนั้น ไม่เกิน 3-5 ปีจากนั้นก็จะถูกปรับขึ้นมาใหม่อยู่ดี
ส่วนบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานจะได้ผลประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานที่ว่านี้ไปอีกกี่มากน้อย บอกได้เลยอาจจะมากกว่า 3-5 แสนล้าน เผลอ ๆ อาจมากกว่า 5 แสนล้านด้วยซ้ำ (เท่ากับที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังที่กำลังวิ่งพล่านหาแหล่งเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet นั่นแหล่ะ)
คนกรุงผู้ใช้ทางคงต้องเปลี่ยนสโลแกนใหม่ “ได้นายกฯ เศรษฐา (ไหง) เรากลายเป็นกะลาสี”
ที่ผ่านมา รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมยังสุมหัวปล้นประชาชนผู้ใช้ทางด่วนกันไม่พออีกหรือ? เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลชุดก่อนได้มัดมือชกต่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ไปถึง 15 ปีเศษกันมาแล้ว (มติ ครม. 13 ก.พ. 2563) แลกกับการยุติข้อพิพาทที่อ้างว่า กทพ. มีอยู่กับเอกชนจำนวน 17 ข้อพิพาท คิดเป็นมูลหนี้กว่า 78,908 ล้านบาท
โดยขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรีรัช ส่วนเอ, บี และซี จากเดิมที่สิ้นสุด 28 ก.พ. 2563 ออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน พร้อมกับสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรีรัช ส่วนดี ขยายเป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญาในวันที่ 22 เม.ย. 2570 และสัญญาทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด หรือส่วนซีบวก ขยายสัญญาออกไปเป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญาวันที่ 27 ก.ย.2569 โดยให้สัญญาทั้ง 3 ฉบับสิ้นสุดลงพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค. 2578
ทั้ง ๆ ที่ประเด็นข้อพิพาทต่างๆ ที่หยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างยังอยู่ชั้นการพิจารณาของศาลปกครอง และอนุญาโตตุลาการ มีเพียงคดีเดียว คือ การสร้างทางแข่งขันและไม่ให้บริษัทปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางตามสัญญาที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กทพ. พ่ายคดี ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายแก่คู่สัญญา 1,700 ล้านบาท
ที่สำคัญของเดิมที่อ้างว่า รัฐอาจต้องจ่ายค่า (โง่) ชดเชยแก่เอกชน 78,900 ล้านบาทนั้น ครม.ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ยัง(ยอม)ขยายสัญญาสัมปทานให้แก่เอกชนแค่ 8-15 ปีเท่านั้น (แยกตามแต่ละสัญญา) ไม่ได้ “เหมารวมเข่ง” อย่างที่ กทพ. และกระทรวงคมนาคมตั้งแท่นให้อยู่นี้
แถมไอ้ที่ตั้งแท่นจะขยายสัญญาสัมปทานกันไปตั้ง 15 ปี แลกกับการให้เอกชนลงทุนแค่ 34,500 ล้านบาท น้อยกว่าค่า(โง่)ชดเชยเดิมถึง 50% นั้น มันใช่หรือ?
ส่วนเกินนับแสนล้านที่กำลังตั้งแท่นกันอยู่นี้ไหลไปเข้ากระเป๋าใครกัน?
และเผื่อใครไม่รู้ ก็จงรู้เอาไว้ด้วยว่า... นอกจาก กทพ. และกระทรวงคมนาคม กำลังลุยไฟเจรจาแก้ไขเพื่อขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 แลกกับการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนยกระดับ “ดับเบิ้ลเด็ค” แค่ 17 กม.เศษ ที่กระทรวงคมนาคม และ กทพ. กำลังตีปี๊บอยู่ในเวลานี้
โดยหยิบยกเอาการปรับลดค่าผ่านทาง 15-25 บาท เป็นใบเบิกทางในการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยไม่ต้องนำเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะอาศัยช่องโหว่ที่เป็น “รูเบ้อเริ่มเทิ่ม” ใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) (รายละเอียด ดูในเนตรทิพย์: Special Report ลับ ลวง พราง “ดับเบิ้ลเด็ค" กทพ. .... ปลดล็อครถติดหรือหลุมพรางปล้นผลประโยชน์แสนล้าน! http://www.natethip.com/news.php?id=7943)
สิ่งที่กระทรวงคมนาคม กำลังดำเนินการควบคู่กันไปกับกรณีนี้ ก็คือ การตั้งแท่นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบผลประกวดราคา โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี ระยะทาง 36.9 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการเปิดประมูลไปตั้งแต่เมื่อกลางปี 2565 โดยมีบริษัทเอกชนรายเดียวกัน เป็นผู้ชนะประมูลอีกด้วย