วันก่อน “หมอชัย” นายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล ได้พูดถึงโครงการรับจำนำข้าว ว่า 10 ปีผ่านไป กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า วาทกรรมข้าวเน่าเป็นความจริงหรือเรื่องเท็จ ยุทธการ “ตีงูให้กากิน” ในที่สุดหางก็โผล่ ด้อยค่าข้าวในโกดังเกินจริง เพื่อทำให้ตัวเลขขาดทุนในโครงการจำนำข้าวสูงจนน่าตกใจ เพียงเพื่อให้ร้ายป้ายสีคู่แข่งทางการเมือง แล้วเปิดโอกาสให้พรรคพวกเข้ามาประมูลข้าวที่ยังดีอยู่ในโกดัง (แต่ถูกกระหน่ำว่าเป็นข้าวเน่า) ในราคาถูกๆ นี่ใช่กระบวนการฉ้อฉลที่แยบยลที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหรือไม่? หลอกลวงผู้คนมานานนับสิบปี ในที่สุด…….?
สมัยนั้นมีกระบวนการตรวจสอบผลประกอบการโครงการจำนำข้าว โดยเข้าไปตรวจข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลที่มีอายุเก็บเพียง 1 ปี แต่กลับตีค่าเสื่อมลดมูลค่าลงครั้งละ 20% สองครั้งติดต่อกันในเวลาเพียง 4 เดือน ใครที่เคยสมรู้ร่วมคิดลวงโลกในสมัยนั้น…ละอายใจกันบ้างหรือไม่?
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ไปตรวจข้าวสารโครงการรับจำนำข้าว ล็อตสุดท้าย 150,000 กระสอบ ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในโกดัง 2 แห่ง ที่ จ.สุรินทร์ พร้อมทั้งหุงข้าวโชว์กับผู้ส่งออกและสื่อมวลชน ก่อนจะมีการเปิดประมูลขายเพื่อปิดบัญชีกันเสียทีในช่วงปลายเดือน พ.ค. - มิ.ย.นี้ โดยคาดว่าจะขายข้าวสารล็อตนี้ได้ราคาราวๆ 14-15 บาท/กก. ได้เงินเข้ารัฐ 200-300 ล้านบาท
มองย้อนอดีตเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 วันทำรัฐประหาร! ยังมีข้าวสารของโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหลืออยู่ในโกดังตามจังหวัดต่างๆ รวมกัน 18.5 ล้านตัน หลังจากนั้นรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งทหารเข้าไปถือกุญแจ คุมโกดัง และตรวจสอบคุณภาพข้าวเอง ทำเอาเจ้าของโกดังและเซอร์เวเยอร์ ได้แต่มองหน้ากันอย่างเซ็งๆ
หนักไปกว่านั้น เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเร่งระบายข้าว และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด โดยประธาน นบข. ได้บอกกับที่ประชุมและมีการบันทึกการประชุมไว้ด้วยว่า ไม่ต้องให้ความเป็นธรรมกับใครในโครงการรับจำนำข้าว
รัฐบาล คสช. ได้เร่งรีบระบายข้าวสารจำนวนดังกล่าวออกไป บางล็อตมีการจัดเกรดข้าว A-B-C ในโกดัง ก่อนขายให้พ่อค้า ซึ่งไม่เคยมีธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติแบบนี้ที่กระทรวงพาณิชย์มาก่อน
เนื่องจากปกติจะประมูลขายแบบเหมากอง-เหมาโกดังกันไปเลย
แต่ต่อมามี “พรายกระซิบ” ให้เลิกจัดเกรดข้าว กลับมาประมูลขายเหมาโกดังตามเดิม โดยขายเป็นข้าวด้อยคุณภาพ สำหรับอาหารสัตว์ บางส่วนนำไปเผาเป็นพลังงานด้วย กระจัดกระจายอยู่แถวๆ ราชบุรี นครปฐม นครสวรรค์ กำแพงเพชร แต่ในภาพรวมได้ราคา กก.ละไม่กี่บาท ถัวเฉลี่ยไม่ถึง กก.ละ 10 บาท
แต่พ่อค้าเอาข้าวสารไปปัดฝุ่น หมุนกลับมาขายเป็นข้าวถุงให้คนกิน ฟาดกำไร กก.ละ 3-4 บาท โดยที่ “เจ้าของโกดัง” ซึ่งทำหน้าที่เก็บรักษาข้าวสารไว้ ได้แต่มองตาปริบๆ เนื่องจากรู้ดีว่าคุณภาพข้าวเป็นอย่างไร ข้าวสารยังดีอยู่ ข้าวสารยังไม่ด้อยคุณภาพ ถึงขนาดจะประมูลขายเป็นข้าวอาหารสัตว์
เจ้าของโกดังหลายแห่งอยากซื้อข้าวสารเอาไว้เอง เพราะรู้คุณภาพข้าวเป็นอย่างไร! แต่ผู้มีอำนาจไม่ขายให้ เนื่องจากต้องการขายให้พ่อค้าเท่านั้น เอาไปทำอาหารสัตว์ เอาไปเผาเป็นพลังงาน ฟันกำไรกันอ้วนเลย!
ผู้มีอำนาจในยุคนั้นถือกุญแจเอง ควบคุมโกดังเองด้วย แล้วเอาข้าวดีไปขายเป็นข้าวเน่าให้พ่อค้าในราคาถูกๆ เพื่อกดตัวเลข “ขาดทุน” สูงๆ เข้าไว้!
วันที่ 31 พ.ค.59 (หลังรัฐประหาร 2 ปี) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ในรัฐบาล คสช. ทำหนังสือรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบสถานะหนี้คงค้างจากโครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 54/55 ปีการผลิต 56/57 ทั้งในส่วนเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และเงินทุน ธ.ก.ส. มีวงเงินรวม 498,707 ล้านบาท ยังอยู่ภายใต้กรอบที่ ครม. กำหนด
นี่ถ้าข้าวสาร 18.5 ล้านตัน ถูกประมูลขายปกติ ไม่เล่นเกมทำลายล้างทางการเมือง การจำนำข้าว 5 ฤดูการผลิต ใช้เงินไม่เท่าไหร่เอง! อยู่ในกรอบที่ครม.กำหนด และไม่แหกกฎวินัย การเงินการคลัง
นี่ถ้าข้าวอีก 150,000 กระสอบ ขายได้ กก.ละ 14-15 บาท/กก. ทั้งคนทำรัฐประหารและผู้ร่วมขบวนการฉ้อฉลเอาข้าวดีไปขายเป็นข้าวเน่า จะนึกอับอายกันบ้างหรือเปล่า?
เสือออนไลน์