กรมชลฯ ปิดจ็อบโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน จังหวัดน่าน จังหวัดพิจิตร และจังหวัดนครสวรรค์ เสนอ 2 โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำน่าน “น้ำปั้ว-ไหล่น่าน” “ฆะมัง” หวังเป็นเครื่องมือ “แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง” อย่างยั่งยืน
นายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครสวรรค์ นายพนมศักดิ์ ใช้สมบูรณ์ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 นายธนบดี รักสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 นำสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมเสนอ 2 โครงการเร่งด่วน “ประตูระบายน้ำน้ำปั้ว-ไหล่น่าน” และ “ประตูระบายน้ำฆะมัง” หวังเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมในพื้นที่ลำน้ำน่านอย่างยั่งยืน
นายพรมงคล กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมชลฯ ได้มีการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำมาโดยลำดับ โดยมีแหล่งเก็บกักน้ำที่สำคัญ อาทิเช่น เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก เขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนทดน้ำนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เมื่อรวมกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ 10,430.25 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีแผนพัฒนาจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำในระยะกลาง (ปี 2565-2575) เพิ่มเติมอีก เช่น อ่างเก็บน้ำน้ำปาด (ภูวังผา) อ่างเก็บน้ำน้ำกอน อ่างเก็บน้ำน้ำกิ และอ่างเก็บน้ำน้ำยาว เป็นต้น ซึ่งหากพัฒนาได้ทั้งหมด ก็จะมีน้ำเก็บกักได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 799 ล้าน ลบ.ม. กรมชลฯ จึงมีนโยบายที่จะหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีก โดยการใช้ลำน้ำน่านเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ จึงเป็นที่มาของโครงการที่กำลังดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน
จากการศึกษาแผนหลักประตูระบายน้ำในแม่น้ำน่าน ทั้งพื้นที่ด้านเหนือและด้านท้ายของเขื่อนสิริกิติ์ พบว่า มีทั้งหมดจำนวน 7 โครงการ ได้แก่ (1) ปตร.ผาจา จังหวัดน่าน (2) ปตร.น้ำปั้ว-ไหล่น่าน จังหวัดน่าน (3) ปตร.ท้ายเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก (4) ปตร.โคกสลุด จังหวัดพิษณุโลก (5) ปตร.ฆะมัง จังหวัดพิจิตร (6) ปตร.บ้านห้วยคต จังหวัดพิจิตร และ (7) ปตร.วังหมาเน่า จังหวัดนครสวรรค์
ซึ่งผลการคัดเลือกแผนงานโครงการอาคารบังคับน้ำที่ดำเนินการก่อสร้างในลำน้ำน่านและมีศักยภาพความจำเป็นในลำดับต้น ได้แก่ พื้นที่ด้านเหนือเขื่อนสิริกิติ์ คือ โครงการประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน จังหวัดน่าน และพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์ คือโครงการประตูระบายน้ำฆะมัง จังหวัดพิจิตร จึงได้นำโครงการดังกล่าวไปดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน มีที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลน้ำปั้ว และตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำน่าน มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุมระดับน้ำโดยบานประตูเหล็กโค้ง ผสมฝายสันมนชนิดคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดบานประตูความกว้างช่องละ 12.50 ม. สูง 9 ม. จำนวน 6 ช่อง ฝายน้ำล้นชนิดฝายสันมนคอนกรีตเสริมเหล็กกว้างช่องละ 15 ม. สูง 9 ม. จำนวน 2 ช่อง อัตราการระบายน้ำสูงสุด 3,000 ลบ.ม./วินาที มีระดับกักเก็บ +184 เมตร (รทก.) สามารถกักเก็บน้ำได้ 3.55 ล้าน ลบ.ม. โดยระยะกักเก็บน้ำในลำน้ำน่าน 18 กม. นอกจากนั้นยังมีทางผ่านปลาชนิด Pool Type Vertical Slot ความกว้าง 3 เมตร ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของประตูระบายน้ำ พร้อมประตูเรือสัญจรแบบแห้งชนิดเครนยกข้าม โดยมีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ 22,000 ไร่ ครอบคลุม 6 ตำบล ได้แก่ 1) ต.กองควาย อ.เมืองน่าน 2) ต.น้ำปั้ว 3) ต.ตาลชุม 4) ต.กลางเวียง 5) ต.ปงสนุก และ 6) ต.นาเหลือง อ.เวียงสา จ.น่าน
ส่วนโครงการประตูระบายน้ำฆะมัง มีที่ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 4 บ้านบางเพียร ตำบลฆะมัง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำน่าน มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุมระดับน้ำโดยบานประตูระบายเหล็กโค้ง มีขนาดบานประตูความกว้างช่องละ 12.50 ม. สูง 10 ม. จำนวน 7 ช่อง อัตราการระบายน้ำสูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที มีระดับกักเก็บ +32.5 เมตร (รทก.) สามารถกักเก็บน้ำได้ 24.77 ล้าน ลบ.ม. โดยระยะกักเก็บน้ำในลำน้ำน่าน 44.5 กม. นอกจากนั้นยังมีทางผ่านปลาชนิด Pool Type Vertical Slot ความกว้าง 3 เมตร ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของประตูระบายน้ำ พร้อมประตูเรือสัญจรแบบแห้งชนิดเครนยกข้าม โดยมีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ 37,000 ไร่ ครอบคลุม 10 ตำบล 2 อำเภอ 2 จังหวัด ประกอบด้วย ตำบลฆะมัง ตำบลบ้านบุ่ง ตำบลท่าหลวง ตำบลป่ามะคาบ ตำบลปากทาง ตำบลท่าฬ่อ ตำบลไผ่ขวาง และตำบลย่านยาว อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร, ตำบลโคกสลุด และตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
“ชาวบ้านมีความต้องการอยากจะได้ประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนั้น ยังเป็นการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ เทียบเท่ากับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จะเกิดประโยชน์ช่วยบรรเทาภัยแล้งและอุทกภัย มีน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร ช่วยรักษาระบบนิเวศให้สมดุล และช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเกษตรกรสามารถปลูกพืชฤดูแล้งได้ ซึ่งประตูระบายน้ำเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ในอนาคตถ้ามีแหล่งกักเก็บน้ำแล้ว ก็ขอฝากให้ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำบริหารจัดการน้ำร่วมกัน และแบ่งปันน้ำให้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน” นายพรมงคล กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อกรมชลประทานดำเนินการตามแผนงาน 7 โครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ลำน้ำน่านสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 150.48 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิม 135,987 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ 27,027 ไร่ รวมพื้นที่ชลประทาน 163,014 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค-บริโภค การประมง และการปศุสัตว์ สนับสนุนประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยวและกิจกรรมการใช้น้ำอื่นๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ด้าน นายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง ในลักษณะเป็นขั้นบันได เกษตรกรสามารถสูบน้ำไปใช้ได้ตลอดลำน้ำน่าน และยังช่วยจัดการจราจรระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่อ่าวไทยได้อีกด้วย ซึ่งผลการศึกษาฯ จะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2570 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนสิริกิติ์ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ส่งผลให้พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมชลฯ จะเร่งผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จโดยเร็ว
นายเดวิด ปันใจ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลฆะมัง กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลฆะมังมีทั้งหมด 12 หมู่บ้าน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่ง ประกอบด้วย ฝั่งตะวันออก 5 หมู่บ้าน ฝั่งตะวันตก 7 หมู่บ้าน เกษตรกรทั้งหมด 157 ราย พื้นที่เกษตรกรรม 47,000 ไร่ มีลำน้ำน่านเป็นแม่น้ำสายหลัก โดยใช้ระบบชลประทานและสถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตร ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่จะปลูกข้าว ส้ม ทุเรียน และพืชชนิดอื่นๆ ที่มีความต้องการใช้น้ำตลอดทั้งปี ซึ่งชาวบ้านตำบลฆะมังรู้สึกดีใจ และเห็นด้วยกับโครงการประตูระบายน้ำฆะมัง จังหวัดพิจิตร ในส่วนของ อบต.ฆะมังก็ยินดีให้ความร่วมมือกับกรมชลฯ ในการใช้พื้นที่ก่อสร้างประตูระบายน้ำฯ เพื่อช่วยให้โครงการดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ เกษตรกรก็จะมีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี แล้วก็จะเป็นแลนด์มาร์คอีกจุดหนึ่งที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ก็ต้องขอขอบคุณกรมชลฯ ที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความหวังของชาวบ้านที่จะรอดพ้นจากวิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายประเสริฐ ศรีปัญญา ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำจังหวัดพิจิตร กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านั้นเกษตรกรมีความลำบากมาก เนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ พอถึงช่วงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร พอถึงช่วงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะไหลมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์และไหลสู่แม่น้ำน่าน ทุกๆ ปีที่ผ่านมาชาวบ้านต้องประสบปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ถ้าหากมีประตูระบายน้ำแล้ว ก็จะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล จะมีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรอย่างพอเพียง ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย