*ล้างไพ่-ล้วงตับ พ.ร.บ.ร่วมทุน (พีพีพี)
ในหมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 14-23 โดยแยกเป็นส่วนของการกำกับดูแล และการประกอบกิจการการบริหารระบบตั๋วร่วม โดยในส่วนของการกำกับดูแลนั้น มอบหมายให้กรมขนส่งทางรางเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
(1) กำกับดูแล ติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และการดำเนินงานของบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และผู้ให้บริการระบบขนส่งให้เป็นไปตามมาตรฐาน และรายงานต่อคณะกรรมการ
(2) กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการ รวมทั้งระยะเวลาจัดส่งรายได้จากการออกและจำหน่ายตั๋วร่วมให้แก่ผู้ให้บริการภาคขนส่ง หรือบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ รวมทั้งระยะเวลาจัดส่งค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือประโยชน์อื่นใดตามข้อบังคับของคณะกรรมการ
(3) สั่งการให้บริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 20 หรือสั่งให้ผู้ให้บริการภาคขนส่งปฏิบัติตามแนวทางหรือข้อบังคับของคณะกรรมการหรือปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 21 ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ขณะที่ในส่วนที่ 2 การประกอบกิจการในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมนั้น กำหนดไว้ในมาตรา 15 การประกอบกิจการในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมต่อไปนี้ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดตั้งในรูปบริษัท และได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี (รมต.คมนาคม)
(1) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
(2) การบริหารจัดการในกิจการที่เกี่ยวข้องหรือกิจการต่อเนื่องกับระบบขนส่งหรือระบบตั๋วร่วมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีการขอความเห็นชอบ การให้ความเห็นชอบ การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตลอดจนเสียค่าธรรมเนียมตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ในมาตรา 15 วรรคท้ายยังกำหนดให้ในกรณีที่กิจการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมตามวรรคหนึ่ง มีลักษณะเป็นกิจการของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุน ให้การประกอบกิจการดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ มาใช้บังคับ
บทบัญญัติมาตรา 14 และมาตรา 15 ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่า แล้วอำนาจหน้าที่เดิมของกรมขนส่งทางรางตามร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และอำนาจหน้าที่เหล่านี้เอาไว้หรืออย่างไร ถึงได้ขยายบทบาทอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมขึ้นมา และการดำเนินการดังกล่าวซ้ำซ้อนกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของกรมที่มีอยู่ตามร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการยกร่าง (สุดมาราธอน) หรือไม่?
ยกตัวอย่างกรณีรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่กระทรวงคมนาคมตั้งแท่นจะประเคนสัมปทานให้บริษัทเอกชนรับสัมปทานในอนาคตอันใกล้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน แต่ในอนาคตอันใกล้เมื่อกฎหมายการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฉบับนี้ใช้บังคับ และกำหนดให้ต้องนำเอาระบบตั๋วร่วมมาใช้ สัมปทานดังกล่าว ก็ต้องมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตั๋วร่วม และกระทรวงคมนาคมโดยตรง
สรุปให้ง่าย นอกจากกระทรวงคมนาคมจะยกร่างกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานกรมขนส่งทางราง “ก้าวล่วง” กฎหมายตนเองแล้วยังรุกคืบก้าวล่วง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ รวมทั้งก้าวล่วงอำนาจของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะกรรมการการร่วมลงทุนฯ (พีพีพี) อีกด้วย
การกำหนดอัตราค่าโดยสาร การจัดทำระบบตั๋วร่วม การเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ จะต้องดำเนินการที่กฎหมายฉบับนี้และที่คณะกรรมการตั๋วร่วมกำหนด หากการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียมดังกล่าวกระทำต่อสัญญาสัมปทาน สัญญาอนุญาตใด ๆ ตามกฎหมายอื่นหรือแม้แต่ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ (พีพีพี) ก็ต้องได้รับยกเว้นให้มาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้เท่านั้น
“ปกติการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐ-เอกชนนั้นยุ่งยากแค่ไหน ก็ดูตัวอย่างการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” เชื่อม 3 สนามบิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัทเอเชียเอราวัน จำกัด ของกลุ่มทุน ซีพี. นั่นปะไร
แม้ทั้งสองฝ่ายมีความพยายามเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทานกันมาจะร่วม 5 ปีแล้วนับตั้งแต่มีการลงนามในสัญญาสัมปทานกันไปเมื่อปี 2562 จนป่านนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ แม้จะมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีกฎหมายพิเศษอยู่ในมือก็ตาม”
เรียกได้ว่า กฎหมายฉบับนี้ถูกยกขึ้นมาเพื่อ “ล้างไพ่” สัญญาสัมปทานระบบขนส่งทั้งหลายแหล่ แล้วเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมนั่นเอง !
*คุมระบบขนส่งทั้งจักรวาลมาเวล!
ในหมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กำหนดไว้ในมาตรา 20 ให้บริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม บำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม และบริหารศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม บำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม และบริหารศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง
นอกจากนี้ ยังให้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลผู้ออกและจำหน่ายตั๋วร่วมรายอื่นในการดำเนินงานและปรับปรุงอุปกรณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับระบบตั๋วร่วมให้เป็นไปตามมาตรฐานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบตั๋วร่วมตามข้อบังคับของคณะกรรมการ
เป็นการก่อกำเนิด นิติบุคคลในรูป “บริษัท” ที่มีอำนาจที่สุดในจักรวาลมาเวล เพราะนอกจากจะเป็น Operator ในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและรายได้กลางแล้ว ยังทำหน้าที่กำกับดูแลบริษัทผู้ให้บริการตั๋วร่วมของโครงข่ายระบบขนส่งอื่น ๆ ทั้งระบบอีกด้วย
ก่อให้เกิดคำถาม หากบริษัท OR หรือ บางจาก และผู้ค้าน้ำมันรายอื่นที่ต่างก็ให้บริการสถานีน้ำมันทั่วประเทศอยู่ในปัจจุบันที่ต้องบริหาระบบจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ใช้บริการ หรือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการทางด่วนและใช้ระบบจ่ายเงินที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ตามนิยามของตั๋วร่วม จะต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับของบริษัทบริหารตั๋วร่วม และสำนักงานบริการจัดการตั๋วร่วมในสังกัดกรมขนส่งมทางราง หรือไม่?
ส่วนบรรดาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า รถเมล์โดยสาร บขส. และรถร่วม บขส. ตลอดจนให้ผู้บริการขนส่งท้องถิ่นทั่วประเทศที่จะต้องใช้ระบบจ่ายเงินจ่ายค่าบริการด้วยอิเล็กทรอนิกส์ และต้องเข้ามาอยู่ใต้อาณัติของบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมจำกัดนี้โดยอัตโนมัติ
เราเคยเห็นแต่รัฐวิสาหกิจอย่างบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) หรือ PTT บริษัท ปตท น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่มีการจัดตั้งบริษัทลูก บริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องอย่าง AOT ที่เข้าไปร่วมลงทุนบริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด บริษัท ไทย แอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นต้น
แต่ในอนาคต เรากำลังจะมีหน่วยงานรัฐอย่างกรมขนส่งทางรางที่ไม่เพียงจะจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และสำนักงานกองทุนขึ้นมากำกับดูแลมาตรฐานการให้บริการระบบจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ และระบบตั๋วร่วม ยังจัดตั้งบริษัทบริหารระบบตั๋วร่วมแห่งจักรวาลมาเวลอีกด้วย
หากจะวิเคราะห์ที่มาที่ไปของการยกร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ.....ที่กระทรวงคมนาคมกำลังป้ำผีลุกปลุกผีนั่งอยู่เวลานี้ โดยพยายามตีปี๊บว่าจะเป็น “คำตอบสุดท้าย” ของการดำเนินนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาลนั้น
กล่าวได้ว่าหลักการและเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าว คณะผู้ยกร่างน่าจะถอดรูปแบบมาจากการจัดตั้ง “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานทำหน้าที่บริหารจัดการอยู่
โดยบทบาทและภารกิจสำคัญของกองทุนดังกล่าว คือ การรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวนเกิดสภาวะวิกฤต เพื่อรักษาระดับของราคาไม่ให้สูงเกินไป จนเกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง
ขณะที่แหล่งรายได้ของกองทุน กลไกและแนวทางการบริหารจัดการกองทุนมีอย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนมีการถ่ายทอดลงไปยัง “ร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม” เพียงแต่ไม่ได้แยกหน่วยงานกำกับดูแลออกมาจัดตั้งเป็นสำนักงานโดยเฉพาะ แต่ให้อยู่ในสังกัดของกรมขนส่งทางรางเท่านั้น เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนกลไกการกำกับดูแล และบริหารจัดการบางประการที่ผิดแผกแตกต่างไปจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยสิ้นเชิง!
…
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม..
- เนตรทิพย์: Special Report
คลี่ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ... อภิมหาหน่วยงานจักรวาลมาเวล (1)
http://www.natethip.com/news.php?id=8531
ติดตาม คลี่ร่าง พรบ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (ตอนที่ 3)