“บีโอไอ” ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร - ระนอง นำทีมสำรวจศักยภาพด้านการลงทุนของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และความพร้อมรองรับการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต เพื่อยกระดับภาคใต้ สู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการลงทุนแห่งใหม่ พร้อมทั้งหารือผู้ประกอบการในพื้นที่ รับข้อเสนอผลักดันการเตรียมพร้อมบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบในท้องถิ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมบีโอไอสัญจรที่จังหวัดชุมพรและระนอง เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการลงทุนต่าง ๆ และสำรวจศักยภาพของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อนำมากำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังได้สำรวจเส้นทางโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน รวมทั้งพื้นที่ที่เตรียมสำหรับการสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่ง ได้แก่ ฝั่งอ่าวไทยที่แหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และฝั่งอันดามันที่แหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง พร้อมทั้งหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่ ผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฯ และกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC)
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC 4 จังหวัด เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ และมีความโดดเด่นในหลายมิติ ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก แหล่งพำนักระยะยาวของชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งมีชุมชน Digital Nomad ขนาดใหญ่ติดอันดับโลก เช่น ที่เกาะสมุยและเกาะพะงัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และเป็นศูนย์กลางแปรรูปอาหารทะเลและอาหารฮาลาล ตลอดจนศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาค รองรับการขนส่งทั้งทางทะเลและทางบก
“พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ มีทำเลที่ตั้งที่ดีและมีจุดแข็งอยู่มาก บีโอไอมองเห็นโอกาสในการดึงศักยภาพเหล่านี้มาทำให้เกิดพลังดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบในท้องถิ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเป็นศูนย์กลางแปรรูปอาหารทะเลและอาหารฮาลาล การเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงานทดแทน การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอนาคตที่สดใสให้กับคนในพื้นที่” นายนฤตม์ กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่เตรียมยกระดับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ไปสู่โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร – ระนอง) และเป็นประตูเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกไปสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการลงทุนแห่งใหม่ของภูมิภาค โดยขณะนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างดำเนินการคู่ขนานใน 4 เรื่องสำคัญ คือ การจัดทำร่าง พ.ร.บ. SEC, การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA), การจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) และการเดินทางโรดโชว์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนจากต่างประเทศ
จากการที่บีโอไอได้ร่วมคณะโรดโชว์ในต่างประเทศกับนายกรัฐมนตรีและกระทรวงคมนาคมในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้พัฒนาและบริหารท่าเรือขนาดใหญ่ บริษัทขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ บริษัทสายการเดินเรือ บริษัทพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งจากประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง เพราะนักลงทุนเหล่านี้มองว่า แลนด์บริดจ์เป็นโครงการยุทธศาสตร์ระดับโลก และจะเป็น Game Changer สำหรับเส้นทางโลจิสติกส์ของโลก
“โครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย จะทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่กว่า 1 ล้านล้านบาท และการจ้างงานกว่า 280,000 ตำแหน่ง ซึ่งจากการลงพื้นที่ของบีโอไอในครั้งนี้ ผู้บริหารท้องถิ่นและผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้มีข้อเสนอหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะ 3 เรื่องสำคัญ คือ (1) การเตรียมพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อรองรับตั้งแต่ขั้นการก่อสร้างโครงการ ไปจนถึงบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และทักษะขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์เต็มที่ (2) การขยายระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น ถนน ไฟฟ้า แหล่งน้ำและการผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ระบบกำจัดขยะ และ (3) การวางกลไกในการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน” นายนฤตม์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 - มิถุนายน 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ 4 จังหวัด จำนวน 275 โครงการ เงินลงทุนรวม 73,213 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการเกษตร ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารแปรรูป และพลังงานทดแทน