การทำประชามติรับรัฐธรรมนูญในประเทศไทย เพิ่งเคยมีทำกันมาแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือ รัฐธรรมนูญปี 50 และรัฐธรรมนูญปี 60 (นอกเหนือจากนั้นไม่เคยทำ) โดยให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ เป็นอันว่าผ่านประชามติ
แต่ปัจจุบันกำลังเกิดปรากฏการณ์อะไรแปลกๆ ขึ้นในการเมืองไทย กรณีเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 67 สภาผู้แทนราษฎร ลงมติท่วมท้น 348 : 0 ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับ สว. และงดออกเสียง 65 เสียง ซึ่งเป็นเสียงของ สส.พรรคภูมิใจไทย ทั้งหมด
โดยก่อนหน้านี้สภาผู้แทนฯ เคยมีมติเป็นเสียงส่วนใหญ่ (มีเสียงสส.ภูมิใจไทยรวมอยู่ด้วย) ในประเด็นการออกเสียงลงคะแนน “ประชามติ” เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง (เสียงข้างมากชั้นเดียว)
แต่ที่ประชุม สว.เมื่อสัปดาห์ก่อน กลับมีมติเสียงส่วนใหญ่จะเอา “เสียงข้างมากสองชั้น”
หมายความว่า ผู้มาใช้สิทธิต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเมื่อมาลงคะแนน ต้องใช้เสียงข้างมากอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้เสียงข้างมากผ่านประชามติไปได้
ดังนั้น เมื่อ 2 สภา (สส.-สว.) มีความเห็นต่างกัน ก็ต้องเสียเวลาตั้งกรรมาธิการร่วม 2 ฝ่ายขึ้นมาเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปใหม่อีกครั้ง และส่งกลับไปใหม่ทั้ง 2 สภา ถ้าสภาใดไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะต้องถูกพับไว้ 180 วัน
หลังจากนั้นสภาผู้แทนฯ จึงสามารถนำร่างดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งได้ และหากได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง ก็สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย
ถ้าเป็นไปตามเงื่อนเวลานี้ จะไม่ทันทำประชามติครั้งแรกในวันที่ 2 ก.พ.68 (วันเดียวกับการเลือกตั้งนายก อบจ.) ตามไทม์ไลน์ที่ไว้ ถ้าเป็นเช่นนั้น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่มีทางทำได้ทันภายในรัฐบาลนี้ และสภาผู้แทนฯชุดปัจจุบันอย่างแน่นอน แต่ถ้าทั้ง 2 สภา เห็นชอบร่วมกัน โอกาสทำประชามติครั้งแรก จะยังทันตามไทม์ไลน์เดิมคือ 2 ก.พ. 68
“เสือออนไลน์” ไม่เข้าใจมติของ สว. เสียงส่วนใหญ่ที่จะเอา “เสียงข้างมากสองชั้น” รวมทั้งกรณี 65 สส.พรรคภูมิใจไทย ที่งดออกเสียงเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 67 ต้องการให้เกิดผลอะไรกันแน่? เพื่อจะ “ยื้อเวลา” หรือไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายของการรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 57 ก็บอกกับประชาชนทั้งประเทศให้ชัดๆ ไปเลย
เพราะต้องอย่าลืมว่า 1. ศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียวให้ทำประชามติ ถ้ายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ได้กำหนดว่าให้ใช้เสียงข้างมากกี่ชั้น แต่เมื่อไม่ได้กำหนด ก็ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบัน (รธน.ปี 60) ตอนทำประชามติ ใช้หลักเกณฑ์อย่างไร ก็ควรทำไปตามนั้น ไม่ควรทำให้ง่ายหรือยากขึ้น! ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 60 ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวเท่านั้น โดยไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงกี่เปอร์เซ็นต์
2. หากมีการทำประชามติเกิดขึ้นในช่วงอายุรัฐบาลปัจจุบัน และทันกับสภาฯชุดนี้ คนไทยจะมีสิทธิ และมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นได้อย่างกว้างขวาง จะเป็นบรรยากาศที่สวยงาม และสง่างามมากกว่าตอนทำประชามติรัฐธรรมปี 60 ซึ่งอยู่ในช่วงของ “คณะรัฐประหาร” มีอำนาจปกครองบ้านเมืองอย่างแน่นอน
3. สภาพความสวยงาม ความสง่างามตามระบอบประชาธิปไตย คือ การเคารพเสียงส่วนใหญ่ที่ออกมาใช้สิทธิออกเสียง ไม่ใช่การที่จะต้องเคารพคนที่นอนหลับทับสิทธิอยู่ที่บ้าน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
4. มติของ สว.เสียงส่วนใหญ่ จะทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่แน่ว่าอาจถึงขั้นปิดประตูตาย! แก้ไขรัฐธรรมนูญกันไม่ได้อีกเลย!
5. หาก “ประชามติ” ถูกลากยาวออกไปจากวันที่ 2 ก.พ. 68 มีผลทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันในสภาฯ ชุดนี้ ทั้ง “สว.เครือข่ายบุรีรัมย์” และพรรคการเมืองที่ยัง ยึกๆ ยักๆ ต้องรับผิดชอบกันไปเต็มๆ จะโทษใครไปไม่ได้เลย!!
เสือออนไลน์