นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 วันที่ 11 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเลขานุการการประชุมฯ ทั้งนี้ กพอ. ได้พิจารณาและมีมติในเรื่องสำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยจะเสนอการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1) วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม เมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท เป็น จ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน
2) กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ
3) กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป
4) การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้
5) การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น
ที่ประชุม กพอ. มีมติให้ สกพอ. ดำเนินการนำเสนอหลักการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ใน 5 ประเด็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 และให้คู่สัญญาร่วมกันเจรจาร่างสัญญาแก้ไข และเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ พิจารณา และนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนนำเสนอ กพอ. และ ครม. เพื่อให้ ครม. เห็นชอบการแก้ไขสัญญาอีกครั้ง ก่อนคู่สัญญาจะลงนามในสัญญาฉบับแก้ไขต่อไป
2. เห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จากการที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ไม่สามารถเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภาได้ และ สกพอ. เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานของประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของช่างอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และจำเป็นต้องขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่อไปให้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป กพอ. ได้มีมติเห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการ โดยให้ยกเลิกการเป็นโครงการร่วมลงทุนตามที่ ครม. อนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 และให้ สกพอ. ดำเนินการจัดหาผู้เช่าที่ดินราชพัสดุในเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เพื่อดำเนินกิจกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การเช่าที่ดินราชพัสดุที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2562 ต่อไป โดย สกพอ. จะนำเสนอให้ ครม. รับทราบมติ กพอ. ดังกล่าว และพิจารณายกเลิกมติ ครม. วันที่ 30 ตุลาคม 2561 ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 4 โครงการใหญ่ และการชักชวนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ เศรษฐกิจ BCG และบริการ โดยในช่วงตั้งแต่มกราคม 2566 ถึงกันยายน 2567 สกพอ. ได้ดำเนินการชักชวนนักลงทุน 139 ราย โดยมีนักลงทุนที่สนใจการลงทุนใน 5 กลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าวและได้ทำหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) รวม 35 ราย จำนวน 36 โครงการ มีการยื่นข้อเสนอโครงการฯ เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอีอีซีแล้ว จำนวน 12 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 135,000 ล้านบาท
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เนตรทิพย์: Special Report
ถอดบทเรียน... "เรือขุดเอลลิคอตต์" ถึงไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ระวัง! ต้องจบลงด้วยค่าโง่อีก!
http://www.natethip.com/news.php?id=9039