กรมการค้าภายใน นำทีมภาครัฐและเอกชน ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษตร ติดตามสถานการณ์การผลิตและการค้าสินค้าหอมแดง เผยปีนี้ผลผลิตคุณภาพดีมาก แต่กำลังออกสู่ตลาดมาก ได้ประสานผู้ประกอบการและผู้ส่งออกเข้าไปรับซื้อแล้ว สร้างความมั่นใจให้พี่น้องเกษตรกร จะได้รับการดูแล กำชับดูแลการทำสัญญาซื้อขาย ห้ามเบี้ยว เผยเตรียมพิจารณามาตรการช่วยเหลืออีก เพื่อดูแลราคาให้เกษตรกร
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าหอมแดง ในจังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร สส.พรรคเพื่อไทย และนายอำเภอ เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เข้าร่วม และยังได้เชิญผู้ประกอบการ ทั้งผู้ส่งออก ผู้รับซื้อ ผู้รวบรวม ล้ง และห้างค้าส่งค้าส่ง ห้างท้องถิ่น อาทิ แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี ท็อปส์ เซ็นทรัล โก โฮลเซลล์ มาร่วมติดตามสถานการณ์ และช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เพื่อช่วยดูแลราคาให้กับพี่น้องเกษตรกร
“จากการลงพื้นที่ พบว่า ภาพรวมหอมแดงศรีสะเกษในช่วงนี้ คุณภาพดีมาก แต่ปริมาณผลผลิตออกเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปรับตัวลดลงบ้าง แต่กระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้ามารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในทันที และจะทำต่อเนื่องไปจนจบฤดูกาลผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องเกษตรกรว่าจะได้รับการดูแลตามที่ได้รับนโยบายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ดูแลพืชเกษตรทุกชนิด ให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาเป็นธรรมและคุ้มต้นทุน” นายวิทยากร กล่าว
นายวิทยากร กล่าวว่า กรมยังได้หารือพี่น้องเกษตรกร และผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้าร่วม เพื่อหารือสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด และมาตรการดูแลหอมแดง โดยในด้านการผลิต คาดว่า ผลผลิตจะมีปริมาณรวม 152,221 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 โดยจังหวัดศรีสะเกษถือเป็นแหล่งเพาะปลูกที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ปริมาณ 80,771 ตัน คิดเป็นร้อยละ 53 ซึ่งแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในพื้นที่อำเภอราศีไศล ยางชุมน้อย และกันทรารมย์ โดยขณะนี้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว
ส่วนด้านการตลาด ได้หารือการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ นอกเหนือจากการระบายผลผลิตในประเทศ ที่กระทรวงพาณิชย์ได้นำผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาเชื่อมโยงรับซื้ออยู่แล้ว เห็นว่า ตลาดสำคัญ คือ ตลาดอินโดนีเซีย แต่การส่งออกค่อนข้างยากลำบาก ทำให้การระบายไปยังต่างประเทศทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่จะผลักดันให้มีการส่งออกให้ได้รวมถึงตลาดเวียดนามด้วย
นอกจากนี้ ยับพบปัญหาการทำสัญญาซื้อขายระหว่างตัวนายหน้า กับเกษตรกร ที่ไม่ตรงไปตรงมา โดยได้กำชับให้มีการดำเนินการให้ตรงไปตรงมา สัญญากำหนดไว้ว่าจะซื้อที่ราคาเท่าไร ถึงหน้างาน ก็ควรจะซื้อในราคานั้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานไปยังนายอำเภอ ทำงานร่วมกับทางพาณิชย์จังหวัดเข้าไปกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พี่น้องเกษตรกรแล้ว
สำหรับมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ นอกเหนือจากการประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อ กรมจะไปพิจารณาว่าจะเพิ่มมาตรการด้านการตลาด เพื่อช่วยเร่งระบายผลผลิตหอมแดงให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ซึ่งที่ได้ทำแล้ว เช่น การนำระบายผ่านการจำหน่ายสินค้าในงานธงฟ้า โมบายพาณิชย์ และการรณรงค์ให้ซื้อหอมแดงเป็นของขวัญปีใหม่ เป็นต้น