นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สถิติการรับอ้อยเผารายวัน ณ วันที่ 13 มกราคม 2568 พบว่า มีโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี จ.อุดรธานี ยังไม่ให้ความร่วมมือในการงดรับอ้อยเผาอย่างจริงจัง สะท้อนจากตัวเลขรับซื้ออ้อยเผารายวัน 31.71% ซึ่งสูงเกินกว่า 25% มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เปิดหีบ โดยตัวเลขรับซื้ออ้อยเผาสะสมของโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานีอยู่ที่ 400,717.21 ตัน คิดเป็น 43.62% เทียบเท่าเผาป่ากว่า 40,000 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดการปล่อยมลพิษฝุ่น PM 2.5 ทำให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นและควันไฟจากการเผาใบและยอดอ้อย
“จากการที่ สอน. ได้ออกมาตรการขอความร่วมมือไปยังโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศทั้ง 58 แห่ง พบว่า ยังมีโรงงานน้ำตาลแห่งสุดท้าย คือ โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี จ.อุดรธานี ที่ยังไม่ให้ความร่วมมือในการงดรับอ้อยเผา ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ผมจึงขอฝากมายังเจ้าของและผู้บริหารโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานีให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการงดรับอ้อยเผา และขอความร่วมมือเกษตรกรชาวไร่อ้อยช่วยกันงดเผาอ้อย งดเผาใบและยอดอ้อยหลังการเก็บเกี่ยว ตลอดจนขอประสานความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายปกครองและผู้แทนภาคประชาชน จ.อุดรธานี เพื่อช่วยกันกำกับดูแล สื่อสารทำความเข้าใจกับชาวไร่และโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล และช่วยกันคืน “ฟ้าใส ไร้ฝุ่น PM 2.5” ให้กับชาว จ.อุดรธานี และประชาชนทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเผาอ้อย เผาใบและยอดอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวในพื้นที่ อีกทั้งจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ของท่านรัฐมนตรีฯ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย