
ควันหลงศาลอาญาทุจริตยกฟ้อง 4 บอร์ด กสทช. กระแสตีกลับ คนใน กสทช. บี้ "หมอไห่" ประธาน กสทช. ลงนามในคำสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ "ไตรรัตน์" นั่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. – ตั้ง กก.สอบวินัยซ้ำ หลังดองเรื่องมาร่วม 2 ปี
จากการที่ศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 กสทช. ในคดีที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ ทำหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กสทช. ทั้ง 4 ราย ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการร่วมกันมีมติเสียงข้างมากให้ปลดรักษาการเลขาธิการ กสทช. และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง กรณีสำนักงานเลขาธิการ กสทช .จ่ายเงินสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2022 ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบของ กสทช. นั้น
ควันหลงจากเรื่องดังกล่าว ได้ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวภายในสำนักงาน กสทช. โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน กสทช. ต่างออกโรงเรียกร้องให้ ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บนใบไชยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เร่งมีคำสั่งให้นายไตรรัตน์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. โดยเร็ว

เนื่องจากก่อนหน้านี้ บอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ได้ลงมติประชุมวาระลับลงมติเสียงข้างมากให้ นายไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาเลขาธิการ กสทช. ให้ปฏิบัติหน้าที่เพียงรองเลขาธิการเท่านั้น
พร้อมตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบวินัย หลังจากที่ประชุม กสทช. ได้รับทราบรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จำนวน 600 ล้านบาท โดยใช้เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎมัสต์แคร์รี่ (Must Carry)

แต่ประธาน กสทช. ที่อ้างว่า ตนเองมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการที่จะออกคำสั่งให้รักษาการเลขาธิการ พ้นตำแหน่งหรือไม่ กลับไม่ยอมลงนามในคำสั่งให้รักษาการเลขาธิการหยุดปฏิบัติหน้าที่ แม้ที่ประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 จะสอบถามความคืบหน้าเรื่องนี้กลางที่ประชุม เนื่องจากที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีมติเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ง หากยังไม่เซ็นคำสั่งอนุมัติอาจเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 แต่กลับไม่มีการชี้แจงใดๆ จากประธาน กสทช.
ขณะที่ในวันรุ่งขึ้น 27 มิ.ย. 2566 นายไตรรัตน์ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้ลงนามคำสั่งสำนักงาน กสทช. ที่ 653.05/2566 เรื่องยกเลิกคำสั่งสำนักงาน กสทช. ลับที่ 629/2566 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ลงวันที่ 16 มิ.ย.2566 โดยไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตามมา
"เมื่อคดีความถึงที่สุดแล้ว และศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง กสทช. เสียงข้างมาก ดำเนินการโดยชอบตามอำนาจหน้าที่แล้ว การที่ประธาน กสทช. ใช้อำนาจปกป้องนายไตรรัตน์ โดยไม่ยอมลงนามในคำสั่งปรับเปลี่ยนรักษาการ กสทช. จนถึงปัจจุบัน จึงย่อมไม่เป็นผลดีต่อองค์กร กสทช."
นอกจากนั้น การที่นายไตรรัตน์ ได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกคำสั่งสอบวินัยตนเองในครั้งนั้น ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สวนกับมติของ กสทช. จึงถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่รับผิดชอบ จำเป็นที่จะต้องดำเนินการสอบวินัยในเรื่องดังกล่าวต่อไป


