
วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2568 ประกาศผลการจัดอันดับ ธนาคารแห่งปี 2568 Bank of the Year 2025 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง ในรอบปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2567 มาพิจารณาจัดอันดับ ปรากฏว่า ธนาคารแห่งปี 2568 Bank of the Year 2025 ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกรุงเทพ

ธนาคารไทยพาณิชย์ ครองแชมป์..ธนาคารแห่งปี 3 สมัยซ้อน 2566-2568
ปีนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เป็นแชมป์ ธนาคารแห่ง 2568 Bank of the Year 2025 ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คือในปี 2566, 2567 และ 2568 โดยในปี 2567 ธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถสร้างกำไรสุทธิได้สูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดที่ 49,232.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,274.35 ล้านบาท หรือ 2.66% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโตสูงขึ้นมาอยู่ที่ 104,600 ล้านบาท โดยธนาคารใช้กลยุทธ์เลือกการเติบโตของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนบนความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Loan Optimization) และการมีวินัยทางด้านราคา ในส่วนของเงินฝากขยายตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะบัญชีเงินฝากลูกค้าธุรกิจ ในด้านของความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน ธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) สูงถึง 18.92% หรือ 453,365 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.82% หรือ 427,000 ล้านบาท และเงินกองทุนชั้นที่ 2 อยู่ที่ 1.10% หรือ 26,364 ล้านบาท และมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูง ที่ 152.3% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 จากการพิจารณาตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น

สำหรับนโยบายการดำเนินงานใน ปี 2568 ธนาคารไทยพาณิชย์ จะมุ่งเน้นเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจใน 3 ด้าน ดังนี้
1. Value Driven Customer Strategy with Credit Efficiency Focus : การนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินอย่างเหมาะสมกับความต้องการ มูลค่า และระดับความเสี่ยงของลูกค้าเป้าหมาย เพื่อให้ธนาคารสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และตรงจุด ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสินเชื่อ การบริหารต้นทุนสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการติดตามหนี้ (Collection Efficiency) เพื่อลดความเสี่ยงด้านสินเชื่อและเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับธนาคารในระยะยาว
ภายใต้กลยุทธ์นี้ ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งจะเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังการเติบโตของรายได้จากค่าธรรมเนียมอย่างมีนัยสำคัญ
2. Productivity Optimization : การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อควบคุมอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในระยะยาว ผ่านการเพิ่มผลิตภาพและการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่
(1) ด้านพนักงาน ผ่านการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะและการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และ (2) ด้านไอที มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศในด้านเสถียรภาพของระบบธนาคาร ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และคุณภาพการให้บริการด้วยการปรับรูปแบบการทำงานเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไอทีให้ทันสมัยภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และปรับสัดส่วนกระบวนการทำงานเป็นแบบอัตโนมัติ (Process Automation) มากขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้
3. AI-First Bank : การเป็นธนาคารที่ขับเคลื่อนด้วย AI เป็นหลัก โดยดำเนินการลงทุนเพื่อวางรากฐานให้องค์กรสามารถนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ได้ในทุกส่วนงาน ทั้งระบบ Core bank และการพัฒนาฐานข้อมูลกลางของธนาคารให้มีความถูกต้อง ปลอดภัย และมีความเป็นปัจจุบัน (Real-time) พร้อมการต่อยอดด้วย AI ที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลธนาคารที่มีจำนวนมาก
นอกจากนี้ ธนาคารยังดำเนินการนำ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในหลายส่วนงานสำคัญของธนาคาร อาทิ การอนุมัติสินเชื่อ การติดตามหนี้ การตรวจสอบความเสี่ยงด้าน Fraud การเพิ่มผลิตภาพของพนักงาน และการพัฒนาความเข้าใจลูกค้าอันนำไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเฉพาะตัวบุคคล (Hyper-Personalization) ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการนำ AI มาใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนธนาคารจะช่วยตอบโจทย์ทั้งในด้านการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและพนักงาน ไปจนถึงการสร้างโอกาสในการหารายได้ใหม่เพิ่มเติม
ธนาคารกรุงเทพ สร้างผลงานเด่น..คว้าตำแหน่งธนาคารแห่งปี 2568
ปีนี้ธนาคารกรุงเทพ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2568 Bank of the Year 2025 โดยโชว์ผลประกอบการในปี 2567 ที่มีกำไรสุทธิ 45,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,575.63 ล้านบาท หรือ 8.59% สูงเป็นอันดับ 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 23.69 บาท จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2.3% จากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ และมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากธุรกิจบัตรเครดิต และบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมที่ยังคงเติบโตดี
นอกจากนี้ ธนาคารยังยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 334.3% ขณะที่ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น 20.35% แบ่งเป็น เงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่16.96% และเงินกองทุนขั้นที่ 2 ที่ 3.39%

สำหรับยุทธศาสตร์ของธนาคารกรุงเทพ ในปี 2568 ประกอบด้วย
1. การเติบโตอย่างมีคุณภาพ (Quality Growth) ธนาคารมุ่งสร้างความเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและขยายธุรกิจอย่างรอบคอบระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนลูกค้าที่แสวงหาโอกาสใหม่ๆ หรือต้องการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียที่ธนาคารกรุงเทพมีสาขา หรือธนาคารในเครือ ซึ่งได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) Bangkok Bank Berhad ในมาเลเซีย และธนาคารเพอร์มาตา ในอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน รวมถึงเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular and Green Economy) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ Sustainable Banking และ Responsible Lending
2. พันธมิตรด้านแพลตฟอร์ม (Platform Partner) ธนาคารสนับสนุนการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยการร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีและตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ และเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าอย่างทันสถานการณ์ เป็นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่
3. ความมั่งคั่งและมั่นคงทางการเงิน (Wealth and Wellness) ธนาคารนำเสนอบริการที่ช่วยให้ลูกค้าขยายผลต่อยอดความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อความมั่นคงทางการเงินสำหรับครอบครัวในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ลูกค้าให้ความสำคัญมากขึ้น และสอดคล้องกับสภาพสังคมของประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศ โดยธนาคารมีผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่การออม การสร้างหลักประกันทางการเงิน ไปจนถึงการลงทุนเพื่อสะสม Wealth ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนขึ้นไปเป็นลำดับ
4. องค์กรอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data-driven Organization) ธนาคารมุ่งเสริมสร้างศักยภาพด้านข้อมูล โดยการพัฒนาระบบ Data Lake อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ธนาคารเข้าใจความต้องการของลูกค้า ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ในแต่ละช่วงชีวิตได้อย่างถูกต้อง และทำให้ธนาคารเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของลูกค้า พร้อมทั้งปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูลของลูกค้า
5. การเสริมสร้างรากฐานองค์กร (Strengthened Foundation) ธนาคารมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมทั้งความรู้ ทักษะและความสามารถที่เพียงพอและเท่าทันสำหรับยุคแห่ง Disruption ของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการประสานความร่วมมือในการทำงานที่มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน รวมทั้งนำเสนอบริการดิจิทัลที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตออนไลน์ของลูกค้า ซึ่งจะทำให้บุคลากรของธนาคารเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ให้คำแนะนำและให้บริการที่มีมูลค่าที่สูงขึ้น