
รู้สึกงง! กับตรรกะของ สส.พรรคประชาชน และที่ต้องตั้งคำถามกลับไปบ้างว่า "นายศุภโชติทำการบ้านน้อยไปหรือเปล่า กรณีปั่นกระแสยกเลิก หรือชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 5,200 เมกะวัตต์"
นายศุภโชติ ไชยสัจจะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวหลายวันแล้วว่า วันที่ 18 เม.ย.68 เป็นวันตัดสินอนาคตค่าไฟของทุกคน ถ้านายกรัฐมนตรียังทำงานเพื่อประชาชนจริง ยังมีเวลาพอที่จะออกคำสั่งยกเลิก หรือชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 5,200 เมกะวัตต์
แต่ถ้าปล่อยเลยวันที่ 18 เม.ย.68 ไป ถือว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน ตนและพรรคประชาชนจะไม่หยุดส่งเสียงในสภาฯ และจะหาทุกวิธีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทุกคน เพื่อหยุดภาระค่าไฟแพง อีก 25 ปี รัฐบาลต้องรับผิดชอบทั้งหมด
ถ้าหากปล่อยให้มีการเซ็นสัญญาเกิดขึ้น ถึงกำหนดวันที่นัดเอกชนลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรกว่า 1 แสนล้านบาท ตลอดระยะเวลา 25 ปี

“เสือออนไลน์” รู้สึกงง! กับตรรกะของ สส.พรรคประชาชน และที่ต้องตั้งคำถามกลับไปบ้างว่า นายศุภโชติทำการบ้านน้อยไปหรือเปล่า?
เอาว่าเรามาปูพื้นเรื่องราคาค่าไฟฟ้ากันก่อน ว่าสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนไทยใช้ไฟฟ้าหน่วยละ 4.70-4.72 บาท มาสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือหน่วยละ 4.18 บาท
ยุครัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ค่าไฟฟ้าลดลงมาอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท และรอบบิลเดือน พ.ค. 68 ค่าไฟฟ้าจะเหลือหน่วยละ 3.99 บาท
ปัจจุบันไฟฟ้าในประเทศไทย มาจากหลายแหล่งผลิต คือ ก๊าซธรรมชาติ 60.4% ถ่านหิน (รวมลิกไนต์) 20% พลังงานหมุนเวียน (พลังน้ำ, อื่นๆ) 19.33% น้ำมันดีเซล 0.01% น้ำมันเตา 0.03% อื่นๆ (สปป.ลาว,มาเลเซีย,ลำตะคองชลภาวัฒนา) 0.23%
ยกตัวอย่างเขื่อนไซยะบุรี ใน สปป.ลาว ที่ “เสือออนไลน์” เคยไปดูมาแล้ว! มีกําลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ เขาส่งไฟฟ้าโดยระบบเสา–สายส่ง มายังสถานีรับไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ อ.ท่าลี่ จ.เลย เป็นสัญญาขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 95% ของกำลังการผลิตเป็นเวลา 31 ปี ในราคาคงที่ตลอดอายุสัญญาไม่เกิน 2.16 บาท/หน่วย

นี่ไม่ใช่ราคาหน้าเขื่อน แต่เป็นราคาที่ อ.ท่าลี่ เป็นไฟฟ้าที่ กฟผ. รับจากเขื่อนโดยไม่มีค่า “เอฟที” ไม่มีค่าความพร้อมจ่าย ค่าไฟในสัญญา 2.16 บาท/หน่วย คือเพดานที่ต้องไม่สูงไปกว่านี้ 31 ปี แต่จริงๆ ค่าไฟที่ขายให้ กฟผ. เฉลี่ย 2.00-2.06 บาท/หน่วยเท่านั้น เพราะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนในแต่ละฤดู บางช่วงฝนตกน้ำมาก ผลิตไฟได้มาก กฟผ .รับซื้อทั้งหมดในราคาไม่ถึง 2 บาท/หน่วย
สรุปไฟฟ้าแต่ละแหล่งผลิตเอามาถัวเฉลี่ยกัน บวกกับค่าสายส่ง ค่าบริหารจัดการของ 3 การไฟฟ้า(กฟผ.-กฟภ.-กฟน.) จึงเป็นราคาค่าไฟที่เราใช้กันอยู่
ส่วนกรณีไฟฟ้า 5,200 เมกะวัตต์ ที่ สส.พรรคประชาชน พูดถึงรัฐรับซื้อในราคาแค่ 2.16 บาท/หน่วย พูดง่ายๆ ว่า เอามาถัวเฉลี่ยให้ค่าไฟฟ้าถูกลงจาก 3.99 บาท/หน่วย (รอบบิล พ.ค.68)
..แล้วจะทำให้ประชาชนใช้ไฟแพงได้อย่างไร?
ความจริงพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่สะอาด มีความจำเป็นที่ไทยต้องผลิตเพิ่ม เพราะเทรนด์โลกต้องการพลังงานสะอาด เช่น ธุรกิจ Data Center-Cloud Service ที่ Amazon Google Microsoft และ Nvidia รวมมูลค่าหลายแสนล้านบาท ถ้าไม่มีไฟฟ้าสะอาด บริษัทเหล่านี้อาจไปลงทุนประเทศอื่นแทน
โดยราคารับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ที่หน่วยละ 2.16 บาท ไม่แพง!

แต่ สส.พรรคประชาชน ยกตัวอย่างที่ประเทศอินเดีย บริษัทของไทยไปประมูลได้ที่ 1.14 บาท/หน่วย จะเอาราคาของอินเดียมาเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะราคาค่าแรงงาน ค่าเหล็ก ค่าวัสดุ อินเดียถูกกว่า รวมถึงปริมาณที่ผลิต อินเดียผลิตเยอะกว่าไทยหลายเท่า ยิ่งเยอะยิ่งราคาถูก
ไฟฟ้า 5,200 เมกะวัตต์ มีความชัดเจนมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แล้วมีคนแพ้การคัดเลือกไปร้องศาลปกครอง จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยยกฟ้องทุกกรณี
จึงไม่มีข้อกฎหมายใดเป็นอุปสรรคต่อการลงนามในสัญญาอีกต่อไป และกำหนดให้ กฟผ. ต้องลงนามในสัญญาภายใน 2 ปี ซึ่งครบกำหนดวันที่ 18 เม.ย. 68
ถ้านายกฯ และ รมว.พลังงาน ทำตามที่ สส.พรรคประชาชนเรียกร้อง จะผิดคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ทั้งนายกฯ และ รมว.พลังงาน คงถูกเอกชนฟ้องร้องอย่างแน่นอน

แล้วตัวเลข 1 แสนล้านบาท ตลอด 25 ปี สส.พรรคประชาชนเอามาจากไหน ? เพราะค่าไฟรอบบิลเดือน พ.ค. 68 จะลดเหลือ 3.99 บาท/หน่วย และแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ
ขณะที่ไฟฟ้า 5,200 เมกะวัตต์ กฟผ. รับซื้อที่ 2.16 บาท/หน่วย เมื่อบวกต้นทุน (ค่าสายส่ง-การบริหารจัดการ) ของ 3 การไฟฟ้า สมมุติมีต้นทุนอยู่ที่หน่วยละ 70 สตางค์ ก็กลายเป็น 2.86 บาท/หน่วย ค่าไฟจึงถูกลงมาก! ไม่ได้แพงขึ้น!
งานนี้จึงไม่รู้ว่า สส.พรรคประชาชน มั่ว! หรือว่า “ทำการบ้าน” มาน้อย!!
เสือออนไลน์