ดีเดย์ 31 สิงหาคม 2562 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ได้ฤกษ์เปิดโครงการ "เซ็นทรัล วิลเลจ" luxury Outlet มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ริมถนนหมายเลข 370 ทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ฝั่งใต้ด้านถนนบางนา-ตราด
ท่ามกลางกระแสต้านอย่างรุนแรงจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่ออกโรงขัดขวางอย่าง ”ถึงพริกถึงขิง” โดยระบุว่า พื้นที่ตั้งห้างดังกล่าวรุกที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของ AOT และเป็นอันตรายต่อการขึ้น-ลงของเครื่องบิน ก่อนสั่งให้เจ้าหน้าที่นำแบร์ริเออร์มาปิดทางเข้า-ออกห้างดังกล่าว
ขณะที่ผู้บริหาร CPN ก็ออกโรงสู้ยิบตา โดยยืนยันว่า ได้รับอนุญาตก่อสร้างห้างเซ็นทรัล วิลเลจ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พร้อมเดินหน้ายื่นขอความคุ้มครองฉุกเฉินต่อศาลปกครอง ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้างเซ็นทรัล วิลเลจ โดยให้ ทอท.รื้อถอนสิ่งกีดขวางบริเวณทางเข้า-ออกโครงการและยุติการดำเนินการใดๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวนหรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ในโครงการดังกล่าว เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า ข้ออ้างของ ทอท.ที่ว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 และต่อการขึ้น-ลงของเครื่องบินนั้นเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น
AOT ปกป้องขุมทรัพย์แสนล้าน!
นักวิเคราะห์ที่คว่ำหวอดในแวดวงการบิน ได้วิเคราะห์เบื้องหลังที่ทำให้ฝ่ายบริหาร AOT ต้อง "ดับเครื่องชน" การเปิดห้างเซ็นทรัล วิลเลจ สุดลิ่มทิ่มประตูนั้น ก็เพื่อปกป้องขุมทรัพย์แสนล้านจากสัมปทานร้านปลอดอากร "ดิวตี้ฟรี" และพื้นที่เชิงพาณิชย์ “คอมเมอร์เชียลแอเรีย” ที่ AOT เพิ่งประมูลให้สัมปทานออกไป โดยมีกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์เป็นผู้ชนะประมูลทั้งสองกิจกรรมไปแบบ “ม้วนเดียวจบ” ด้วยวงเงินผลประโยชน์ตอบแทนแก่ ทอท. ปีละกว่า 23,000 ล้านบาท และตลอด 10 ปีกว่า 247,000 ล้านบาท
การรุกคืบเข้ามาเปิด “เซ็นทรัล วิลเลจ” ของกลุ่ม CPN ข้างรันเวย์สุวรรณภูมินั้น จึงกลายเป็น "หอกข้างแคร่" ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ และต่อสัมปทานดิวตี้ฟรีของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์โดยตรง เลยทำเอาทั้ง ทอท. และคิงเพาเวอร์ “นั่งไม่ติด” ต้องงัดไม้ตายสกัดกั้นห้างดังกล่าวในทุกวิถีทาง
เพราะหากห้างยักษ์ดังกล่าวเปิดให้บริการได้ ไม่เพียงสัมปทานดิวตี้ฟรีแสนล้านในสนามบินสุวรรณภูมิจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแล้ว แม้แต่อาณาจักรคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ที่ซอยรางน้ำและคิงพาวเวอร์ ศรีวารีคอมเพล็กซ์ ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ถือเป็นแฟล็กชีพใหญ่สุดของกลุ่มคิงเพาเวอร์ที่หวังจะให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในการต้อนรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวจากสนามบินสุวรรณภูมิโดยตรง ก็อาจ “ล้มทั้งยืน” เอาได้ ด้วยทำเลที่ตั้งนั้นอยู่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิออกไปร่วม 20 กม. เมื่อมีห้างใหม่ มีซูเปอร์มอลล์สุดหรูหราอลังการงานสร้างมาตั้งอยู่ข้างรันเวย์เช่นนี้ มีหรือที่ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวจะไม่เลือกห้างดังกล่าวเป็นที่แรก
ด้วยทำเลที่ตั้งของห้างเซ็นทรัลวิลเลจนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าแทบจะตั้งอยู่ข้างรันเวย์สุวรรณภูมิ ห่างจากรันเวย์ไม่ถึง 2 กม.ประกอบด้วยกิจกรรมในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนบรรดาสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลายที่ล้วนเป็น luxury Outlet ที่แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ AOT เพิ่งให้สัมปทานออกไป นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ทอท.ต้องดำเนินการในทุกวิถีทางในอันที่จะปกป้องขุมทรัพย์แสนล้านของตนเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ห้างลักชัวร์รี เอาท์เล็ตแห่งนี้ เปิดให้บริการ
แต่เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้าม ทอท.กระทำการใดๆ อันเป็นการกีดขวางทางเข้า-ออก Luxury Outlet ดังกล่าวและเปิดทางให้ “เซ็นทรัล วิลเลจ” เดินไปตามครรลองโดยไม่อาจจะหยุดยั้งใดๆ ได้อีก แถมในวันเปิดห้างเป็นประเดิมนั้นผู้คนยังหลั่งไหลไปเช็คอินกันมืดฟ้า มัวดิน ทำเอาซูเปอร์ลักลัวร์รี่ “เซ็นทรัล วิลเลจ” ปริแตก!
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า สัมปทานแสนล้านของ AOT ที่ได้อานิสงส์จากธุรกิจผูกขาดดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์และจากบรรดาสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลายภายในพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมินั้น กำลังสั่นคลอนและถูกท้าทาย
จับตา 3 เดือน เซ็นทรัล วิลเลจ เป็นอย่างไร?
ผ่านไปเกือบ 3 เดือน นับตั้งแต่เซ็นทรัล วิลเลจ เปิดให้บริการนั้น กล่าวได้ว่า วันนี้ ลักชัวร์รี่ เอาท์เล็ตแห่งนี้อยู่ในใจนักท่องเที่ยวและผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือผู้เดินทางที่ต้องการฆ่าเวลาระหว่างการรอเครื่องแล้ว เพราะด้วยทำเลที่ตั้งของห้างแห่งนี้ที่แทบจะอยู่ชิดต่อรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ
แถมทางห้างยังมีบริการ Shuttle Bus (ฟรี) รับ-ส่งฟรีจากทั้งในเมืองเซ็นทรัล เวิลด์ มายังเซ็นทรัล วิลเลจ และจากสถานีรถไฟฟ้า BTS สุขุมวิท รวมทั้งจากโรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ มายังห้างโดยตรงอีกด้วย แทบจะกล่าวได้ว่า จะเพลิดเพลินช็อปปิ้งกันอย่างไร ก็ "การันตี" ไม่มีตกเครื่องแน่
แม้จะยังไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจนในขณะนี้ เนื่องจากสัมปทานคิงพาเวอร์ใหม่ยังไม่ได้เริ่มต้นในปีนี้ แต่จะไปเริ่มต้นเอาจริงๆ ในปลายปี 2563 ไปแล้ว ขณะที่ AOT เองยังคงเป็นปลื้มกับความสำเร็จในการ “ปิดดีล” สัมปทานดิวตี้ฟรีอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับคาดหวังจะสร้างรายได้ที่เป็น Non-Aero ให้แก่ ทอท. สุดกระหึ่มปีละกว่า 23,000 ล้านบาท
โดยล่าสุด ที่ประชุมบอร์ด AOT ได้อนุมัติให้แจกโบนัสพนักงานและฝ่ายบริหาร AOT ถึง 7.25 เดือน ซึ่งแม้จะน้อยกว่าปีก่อนที่จ่ายโบนัสไปในอัตรา 7.75 เดือน โดยบริษัทได้ให้เหตุผลมีความจำเป็นในการกันเงินไปลงทุนในโครงการที่จะสร้างรายได้และความยั่งยืนให้แก่บริษัทในระยะยาว
แต่ก็อย่างที่ทุกฝ่ายประจักษ์ ผลพวงจากการที่ CPN กระเตงห้างเซ็นทรัล วิลเลจ ฝ่ามรสุมห่าใหญ่จนสามารถผุดห้างซูเปอร์ ลักชัวรี่ใหญ่ข้างรันเวย์สุวรรณภูมิได้นั้น ย่อมทำให้สัมปทานดิวตี้ฟรี และกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ในภายและนอกสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มคิงเพาเวอร์ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่
แน่นอน! ในแง่ของกลุ่มคิงเพาเวอร์ที่ถือเป็นคู่สัญญากับรัฐนั้น เมื่อ "ขุมทรัพย์แสนล้าน" ทั้งสัมปทานดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐ คือ AOT ไม่สามารถแอ่นอกปกป้องสัมปทานใต้ชายคาตนเองได้ ปล่อยให้คู่แข่งดอดเข้ามาตีท้ายครัวได้เข่นนี้ คู่สัญญาฝ่ายเอกชนย่อมมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวฟ้อง AOT เฉกเช่นที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ฟ้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรณีปล่อยให้มีการก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ ส่วนขยายดอนเมือง-รังสิต แข่งเส้นทางสัมปทานทางด่วนตอนเหนือจนกลายมาเป็น ”มหากาพย์ค่าโง่ทางด่วน” ที่ทำเอารัฐบาลและ กทพ. ต้องหน้ามืดหืดจับอยู่ในเวลานี้ เพราะต้องจ่ายชดเชยความเสียหายกันเป็นหมื่นล้าน!
กรณี ลักชัวรี่ เอาท์เล็ต "เซ็นทรัล วิลเลจ" ของกลุ่ม CPN ที่ผุดข้างรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมินี้ก็เช่นกัน เมื่อฝ่ายบริหาร ทอท. ออกมายืนยัน นั่งยันก่อนหน้านี้ว่า พื้นที่ก่อสร้างห้างดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุที่อยู่ในเขตควบคุมการบินที่ ทอท. ดูแลรับผิดชอบอยู่ ใครจะทำอะไรก็ต้องได้รับอนุญาตจาก ทอท.แล้ว จุดยืนของฝ่ายบริหาร AOT ดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่า เท่ากับเป็นการยอมรับว่า ทอท.นั้นเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถปกป้องสัมปทานแสนล้านใต้ชายคาตนเองได้หรือไม่?
แทบจะเรียกได้ว่า “ตั้งธงพ่ายคดีพิพาทตั้งแต่ในมุ้ง” ซึ่งนั่นจะทำให้ในอนาคต หากกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยว AOT ที่ปล่อยให้ธุรกิจผูกขาดของกลุ่มถูกบอนไซ หรือถูกคู่แข่งทะลวงไส้จนได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว AOT ก็เตรียมตัวจ่ายชดเชย “ค่าโง่สัมปทานแสนล้าน” ก้อนโตกันได้เลย!!!