หลังจาก " สำนักข่าวเนตรทิพย์" ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการใช้เงิน "กองทุนพัฒนาไฟฟ้า" ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า น่าจะขัดแย้งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
หลังกองทุนดังกล่าวดอดไปอนุมัติงบกว่า 120 ล้านบาท หรือเกือบ 40 % จากงบกองทุนฯ ทั้งหมด 365 ล้านบาท ให้บริษัท แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ไปจัดนิทรรศการและคอนเสิร์ต "ไฟจากฟ้า" เอาศิลปินนักร้องซูเปอร์สตาร์รุ่นป้าของเมืองไทยมาจัดแสดงคอนเสิร์ต ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 62 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความงุนงงของภาคส่วนต่างๆ ว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน และเป็นมหกรรมตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่?
ล่าสุดสำนักงาน กกพ.ได้นำสื่อมวลชนนับร้อยชีวิตไปจัด Thanks Press ที่จังหวัดราชบุรี ที่กำลังโด่งดังเรื่อง "ฟาร์มไก่ปารีณา" อยู่ในเวลานี้ พร้อมถือโอกาสชี้แจงความเป็นไปเป็นมาของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตลอดการนำเงินจากกองทุนดังกล่าวไปใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ โดยแต่ละปีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่มีรายได้ที่เก็บจากผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่ได้รับใบอนุญาตปีละกว่า 1,000 ล้านบาท..
จนถึงปัจจุบันองค์กรอิสระอย่าง กกพ.ตั้งไข่มาตั้งแต่ปี 2550 รวมระยะเวลาได้ 12 ปีแล้ว โดย พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายในการกำกับดูแล มีการทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อเอาเงินมาใช้ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ล่าสุด (2563-2567) ใช้เงินประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือตกปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ กกพ.เป็นองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้นโยบายของกระทรวงพลังงาน บริหารงบก้อนโตผ่านมือจำนวนมหาศาลถึง 1,000 ล้านบาทในแต่ละปี และเป็นที่น่าสังเกตว่า “กระทรวงพลังงาน มีหน่วยงานในสังกัดถึง 5 หน่วยงาน ทั้ง สนพ. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานปลัด มีงบบริหารรวมกันแค่ ปีละ 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น และที่ผ่านมา กกพ.ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำงานไม่เหมาะสมกับเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับ มีการเมืองภายในองค์กรนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่?
มาดูกันว่า ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง "กองทุนพัฒนาไฟฟ้า" ตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานปี 2550 กำหนดกิจกรรมที่กองทุนจะนำเงินไปใช้เอาไว้อย่างไรบ้าง..
(1) เพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส
(2) เพื่อการชดเชยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ากระทำการฝ่าฝืนมาตรา 87 วรรค2
(3) เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า
(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และ (5) เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า
ตามรายงานผลการดำเนินการของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่สำนักงาน กกพ. ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชน เพื่อให้เกิดความกระจ่างนั้น พบว่า การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(1) เพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 นั้น แต่ละปี จะ ใช้จ่ายเงินชดเชย รายได้ระหว่างการไฟฟ้าจำนวน 10,000-21,000 ล้านบาท และอุดหนุนผู้ใช้ไฟ 2,000-3,600 ล้านบาท
ส่วนการใช้จ่ายตาม ม.97(3) เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 นั้น มีวงเงินดำเนินการปีละราว 2,000 ล้านบาท ขณะที่การดำเนินงานตาม มาตรา 97(4)เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 60 มีวงเงินดำเนินการปีละ 900 ล้านบาท
ขณะที่การดำเนินการตามมาตรา 97(5) เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ซึ่ง เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมานั้น มีวงเงินในการดำเนินงานปีละ 350 ล้านบาท และสุดท้ายเป็นเงินสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนต่างๆ ปีละราว 100 ล้านบาท
แต่เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถาม รายละเอียดโครงการ "ไฟจากฟ้า" ซึ่งเป็น 1 ในกิจกรรมหลัก ที่สำนักงาน กกพ. อนุมัติงบฯ กว่า 120 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งไปจัดนิทรรศการ 2 วัน และจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่ Royal Paragon Hall ว่าเป็นไปโดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา 97 (5) อย่างไร? ก็ทำเอาผู้บริหาร สำนักงาน กกพ. ถึงกับ "ไปไม่เป็น" เพราะไม่สามารถจะชี้แจงได้ว่า การจัดมหกรรมคอนเสิร์ต ซุปตาร์รุ่นป้าดังกล่าว จะไปสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องของ Solar Cell ให้กับประชาชนคนไทยโดยทั่วไปได้อย่างไร?
นี่ยังไม่นับรวมถึงกิจกรรมล่าสุด ที่สำนักงาน กกพ. เพิ่งอนุมัติงบไม่รู้กี่สิบล้าน ไปให้กับ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดนิทรรศการ “จรัส Light” และเปิดศูนย์จรัส Lab ศูนย์เรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เป็นเวลา 10 เดือนนับจากนี้ การถลุงเงินลงไปยังหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ดังกล่าว จะไปสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักให้กับประชาชนโดยทั่วไปได้อย่างไร?
ทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า การใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดังกล่าวนั้นดูจะกลายเป็นมหกรรม ”ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ดีๆ นี่เอง!
ขนาดที่เป้าหมาย ของการใช้เงินกองทุนโดยภาพรวม จะไปถึงฝั่งหรือไม่ดูจะกลายเป็นเรื่องรองลงไปเสียแล้ว..
น่าจะถึงเวลาที่ รมว.พลังงาน จะได้ล้วงลูกเข้ามาตรวจสอบการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. แห่งนี้เสียที ว่า สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนหรือไม่ และหากไม่สอดคล้อง ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ก็เป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่กระทรวงพลังงานและรัฐบาล จะล้วงลูกดึงเอาเงินกองทุนนี้กลับไปให้กระทรวงพลังงานโม่แป้งเอง..
อย่างน้อยหากมีการใช้เงินวัตถุประสงค์ ก็ยังคงมีฝ่ายค้านและฝ่ายแค้นในสภาผู้แทนราษฎร ที่พร้อมจะเข้ามาตรวจสอบได้บ้าง ดีกว่าการปล่อยให้ใครองค์กรอิสระใดก็ไม่รู้ มาผลาญงบเล่นกันแบบนี้!