กรมชลประทาน ตอบรับความต้องการแหล่งน้ำของชาวอำเภอป่าบอน จ.พัทลุง เร่งพัฒนาอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว เผยใช้วิธีก่อสร้างเขื่อนดิน “ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงฝายเดิม พร้อมระบบส่งน้ำแบบท่อ” คาดเก็บกักน้ำได้กว่า 10.14 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์กว่า 16,475 ไร่ ครอบคลุม 10 หมู่บ้าน เล็งปักธงหัวงานอ่างเก็บน้ำที่ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ และคณะ ลงพื้นที่นำคณะสื่อมวลชนสำรวจโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง โดยมีนายภูดิศ ชนะวรรณโณ นายอำเภอป่าบอน ให้การต้อนรับและลงพื้นที่ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานราชการระดับอำเภอ และระดับตำบล ผู้นำชุมชน ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ณ โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว
นายอำเภอป่าบอน ได้พูดถึงความต้องการของชาวบ้านป่าบอนว่า ปัญหาของตำบลหนองธง คือการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นประจำทุกๆ ปี การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จะช่วยเสริมให้มีน้ำต้นทุนไว้สำหรับใช้ในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีได้ ประกอบกับ อ.ป่าบอน ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกจากยางพารา เป็นสวนไม้ผล โดยเฉพาะ สละ สับปะรด และมะละกอ ซึ่งเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อของที่นี่ หากได้น้ำจากอ่างแห่งนี้ จะสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านได้อย่างทั่วถึง
ด้านนายเฉลิมเกียรติ เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว เป็นโครงการพระราชดำริ ซึ่งในวันนี้เกิดความสำเร็จในการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประชาชนเสียงส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้กรมชลประทาน พร้อมดำเนินการก่อสร้างคาดว่าในปี 64 เป็นต้นไป หากดำเนินการแล้วเสร็จอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วจะมีความจุประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค 2,090 ครัวเรือน สามารถนำน้ำไปใช้ในระบบประปาภายในชุมชนได้อย่างทั่วถึง ส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน 11,600 ไร่ นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้เกิดการจัดสรรน้ำอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวป่าบอน และชาวพัทลุงที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำต่อประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่ บ้านเหมืองตะกั่ว หมู่ที่ 1 ตาบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง เป็นเขื่อนเก็บกักน้ำชนิดเขื่อนดินถมชนิดแบ่งส่วน จากการศึกษาสภาพภูมิประเทศและจากการตรวจสอบในภาคสนาม พบว่า สภาพภูมิประเทศบริเวณพื้นที่รับประโยชน์มีสภาพเป็นลูกคลื่น สลับลูกเนินสลับที่ราบ ซึ่งเหมาะสมกับระบบส่งน้ำชลประทานชนิดระบบท่อส่งน้ำ โดยแนวท่อส่งน้ำจะพิจารณาวางไปตามแนวถนนเดิม ซึ่งจะทำให้ไม่กระทบกับที่ดินของราษฎร อีกทั้งยังสามารถส่งน้ำในพื้นที่ที่สูงกว่าท่อส่งน้ำได้ เนื่องจากส่งน้ำด้วยระบบแรงดัน จากการวางแนวท่อส่งน้ำทำให้สามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 16,475 ไร่ คลอบคลุม 9 หมู่บ้านในตำบลหนองธง และ 1 หมู่บ้านในตำบลคลองใหญ่ มีความยาวท่อส่งน้ำรวมประมาณ 37.20 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 11,600 ไร่ ฤดูแล้ง 2,600 ไร่ และสามารถส่งน้ำให้ด้านอุปโภค-บริโภค ในตำบลหนองธงและคลองใหญ่ได้ตลอดทั้งปี
ขณะที่ นายประจวบ มลยงค์ กำนันตำบลหนองธง กล่าวถึงความต้องการอ่างเก็บน้ำของลูกบ้านว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคของตำบลหนองธง เป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน ทุกวันนี้คนหนองธง เราเปลี่ยนชีวิตการทำเกษตรไปในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการปลูกสละ ของที่นี่ เรามีผลผลิตกว่า 2 ตันต่อวัน หากขาดแคลนน้ำ จะส่งผลต่อผลผลิตการเกษตรอย่างมาก หากมีอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ขึ้นมา จะช่วยการเกษตรในตำบลหนองธงได้อย่างยั่งยืน จึงอยากจะขอให้กรมชลประทาน ได้สร้างแหล่งน้ำเพื่อการท่องเที่ยวของอำเภอป่าบอนอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการสร้างแหล่งน้ำ ทุกวันนี้ ชาวบ้านต่างตั้งหน้าตั้งตารอ เนื่องจากโครงการนี้ ยืดเยื้อมานานไม่เกิดสักที โดยชาวบ้านหนองธงต่างซาบซึ่งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงร.9 และรัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีเมตตาและทรงเล็งเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านหนองธง
พร้อมกัน นายเฉลิมเกียรติ ยังได้เป็นประธานการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 (การประชุมปัจฉิมนิเทศ) โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง โดยมี นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล องค์กรภาคประชาชน ผู้นำชุมชน ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมกว่า 120 คน ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง
โดยผู้แทนจากกรมชลประทานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา ได้นำเสนอผลสรุปการศึกษาความเหมาะสม ลักษณะโครงการด้านวิศวกรรม การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้กับกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมปัจฉิมนิเทศได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปปรับปรุงผลการศึกษาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่งในวันนี้มีชาวบ้านและหน่วยงานราชการระดับต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอป่าบอน ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็นถึงโครงการว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ทำให้มีแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภค-บริโภค และเพื่อการเกษตรให้กับชุมชน โดยสนับสนุนให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำฯ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์โดยเร็วที่สุด