อดีตจเรตำรวจชี้เปรี้ยง! ด่านลอย ด่านตรวจบนทางหลวง ล้วนผิดกฎหมายทั้งสิ้น ประชาชนมีสิทธิ์ฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ทั้งผู้สั่งการ คนตั้งด่านได้ทันที ยิ่งหากเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุด้วยแล้วต้องรับผิดชอบทั้งแพ่งอาญาเต็มพิกัด
การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เมื่อคำวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ห้างโชว์ดีซี พระราม 9 ทางสหพันธ์ฯ ได้เชิญ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตจเรตำรวจและอดีตผู้กำกับ สภ.ลำลูกกา ในฐานะนายตำรวจหัวหอกภาคประชาชนที่ผลักดันการปฏิรูปตำรวจ มาร่วมปาฐกถาในหัวข้อ “ปัญหาส่วยและด่านลอย” ที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกต้องเผชิญบนถนนหลวง
แฉด่านลอย-จุดสกัดล้วนผิดกฎหมาย!
โดยอดีตจเรตำรวจท่านนี้ ได้กล่าวว่าตามบทบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 38 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง แขวน วางหรือกองสิ่งใดในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ หรือในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวง หรือความไม่สะดวกแก่งานทาง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรืออธิบดีทางหลวง
ขณะที่มาตรา 39 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือวางวัตถุที่แหลมหรือมีคมหรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 35 วรรคหนึ่ง มาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา71)
ดังนั้น บรรดาด่านเถื่อน ด่านลอย หรือจุดสกัดบนทางหลวงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอยู่ในปัจจุบันล้วนเป็นการกระทำผิดตามพ.ร.บ.ทางหลวงทั้งสิ้น ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดได้รับสิทธิ์ให้นำเอาสิ่งกีดขวาง หรือกรวยตั้งมาตั้งกีดขวางบนทางหลวงแผ่นดินทั้งสิ้น เพราะถนนหลวงหรือทางหลวงแผ่นดินนั้นสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การสัญจร กรมทางหลวงจึงไม่ยอมให้บุคคลใดหรือหน่วยงานใดนำเอาสิ่งกีดขวางมาตั้งกีดขวางทั้งสิ้น
“แต่ทุกวันนี้ ประชาชนโดยทั่วไปเราไม่รู้ นึกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจตั้งด่านจึงไม่โวยวายกัน แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่าใครก็ไม่มีอำนาจในทุกกรณี และการกระทำดังกล่าวยังเป็นความผิดมีโทษรุนแรงด้วย ดังนั้น เราจึงมักจะเห็นว่า พอมีใครโวยวายว่ามีการตั้งด่านลอย ด่านเถื่อน หรือจุดสกัดแห่งใดก็แล้วแต่ ผู้บังคับบัญชาที่สั่งตั้งด่านจะรีบสั่งให้เลิกด่านทันที เพราะไม่อยากมีปัญหาถูกแจ้งความเอาผิดตามกฎหมายทางหลวง”
ปัญหาที่เราเห็นกันบ่อยๆ คือ บางด่านเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนกันขึ้นเพราะไม่ทันระวัง หรือเบรกไม่ทัน อันเนื่องมาจากการตั้งด่านตรวจ ตำรวจก็จะเลิกด่าน รีบเก็บอุปกรณ์ต่างๆทันที เหตุผลก็คือไม่อยากร่วมรับรู้หรือรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งในแง่ผู้เสียหายนั้น สามารถฟ้องร้องเอาผิด และเรียกความเสียหายเอากับผู้บังคับบัญชาที่สั่งตั้งด่าน และเจ้าหน้าที่ที่ตั้งด่านเหล่านั้นได้ทั้งหมด
เรียกตรวจใบขับขี่.. ต้องชี้ความผิด!
ส่วนการที่เจ้าหน้าที่เรียกหยุดรถ หรือขอตรวจสอบรถนั้น สามารถทำได้หรือไม่แค่ไหนนั้น อันนั้นทำได้ตาม พ.ร.บ.จราจร ปี 2522 แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่พบว่า มีการกระทำความผิดซึ่งหน้าแล้วเท่านั้น เช่นพบเห็นสภาพรถที่ขับไม่ถูกต้อง หรือมีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ไม่อยู่ในสภาพที่จะขับรถได้โดยปลอดภัย ขับขี่ส่ายเป็นงูไปมา หรือสังเกตเห็นว่ารถไม่ติดป้ายทะเบียน สามารถเรียกให้รถหยุดได้ โดยจะต้องแจ้งเหตุ หรือแจ้งข้อหาให้ผู้ขับขี่ได้ทราบ แต่ไม่ใช่เรียกให้หยุดแล้วขอยึดใบขับขี่ ขอดูใบขับขี่เฉย ๆ แล้วเดินวนรอบรถ สำรวจหาความผิดในภายหลัง ถ้ายังไม่พบความผิด ตำรวจไม่มีอำนาจเรียกหยุดรถโดยพลกาล
หากพบเจ้าหน้าที่ ประเภทซุ่มโป่งเรียกให้จอด เรียกให้หยุดแล้วมาขอดูใบขับขี่ เดินวนรอบรถหาข้อหาอันนี้สามารถแจ้งความเอาผิดได้ เพราะถือเป็นการขัดขวางทำให้เสียเสรีภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสิทธิ์มาขอดูหรือยึดใบขับขี่โดยไม่มีเหตุ จะขอดูได้ต่อเมื่อพบว่ามีการกระทำผิดเท่านั้น จึงจะขอยึดใบขับขี่เพื่อบันทึกประวัติ
“ดังนั้นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตระหนักก็คือมีเหตุอันควรใดๆจะเรียกตรวจยานพาหนะของประชาชนที่กำลังสัญจรผ่านไปมาบนถนนหลวงหรือไม่ เช่นพิรุธจากสีรถไม่ตรงกับการขออนุญาต ป้านทะเบียนหน้า-หลังไม่ตรงกัน ขับรถลักษณะน่าหวาดเสียวส่ายไปมา หรือลักษณะก่อความเดือดร้อนรำคาญ...ที่ผ่านมาเราก็หยวนๆกันไป เพราะมีการอำนวยความสะดวกที่ดีประชาชนจึงให้ความร่วมมือ แต่ถามว่าทุกด่าน ทุกจุดสกัดเป็นอย่างที่ประชาชนต้องการหรือไม่”
ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจ..พิทักษ์สิทธิ์ตนเอง
ในเรื่องของส่วย ซึ่งผู้ประกอบการขนส่ง รถบรรทุกต้องเผชิญกันทุกคน 99% นั้นต่างต้องจ่ายส่วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นส่วยรายเดือน รายวันหรือเฉพาะกิจ หรือส่วยเลี้ยงวันเกิด วันสถาปนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นธรรมเนียมเป็นประเพณีปฏิบัติ
แต่เอาจริง ๆ ล้วนเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งผู้ให้ ผู้รับ และที่จริงมันก็คือการจ่ายเป็นค่าเสียเวลา ค่าอำนวยความสะดวก เพราะไม่อยากมีปัญหาถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ ทำให้ต้องเสียเวลา ดังนั้นจะว่าไป เรื่องส่วยก็คือการจ่ายค่าอำนวยความสะดวกในการสัญจรหรือขนส่ง ซึ่งความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น ก็มาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานอื่น พากันสร้างขึ้นมา จะได้หาเหตุเรียกค่าอำนวยความสะดวก ซึ่งหากสหพันธ์ขนส่งทางบก ผู้ประกอบการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็จะสามารถขจัดส่วยทางหลวงออกไปได้ แต่ก็นั่นแหล่ะทุกวันนี้ ส่วยทางหลวงกลายเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกไปแล้ว
“ถึงเวลาที่ประชาชนควรจะต้องร่วมกันสังคายนาปฏิรูปตำรวจ ต่อไปนี้ขอให้ประชาชนพึงรู้สิทธิ์ของตนว่าด่าน จะด่านลอย ไม่ลอยหรือจุดสกัดนั้นผิดกฎหมายทางหลวงทั้งหมดนั่นแหล่ะ ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ตั้งกรวย ตั้งด่านทั้งสิ้น หากการตั้งด่านทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้สั่ง ผู้ปฏิบัติงานต้องรับผิดชอบทั้งทางอาญาและแพ่งกรณีเกิดอุบัติเหตุที่พิสูจน์ได้ว่า มาจากการกีดขวางการจราจร แม้หลักคิดทั่วไปยังควรอยู่ที่ถ้าพบว่า ยานพาหนะคันใดน่าสงสัย มีข้อมูลแจ้งมาว่าทำผิดกฎหมายจึงสมควรสกัดหรือตรวจค้น เช่นที่เราเคยเห็นในหนังฝรั่ง แต่สำหรับบ้านเราตำรวจมักชอบทำตรงกันข้ามคือหยุดรถก่อนเพื่อค้น-เค้นหาความผิด”