“เกษตรฯ” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) เพิ่มรายได้เกษตรกร ส.ป.ก. ส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจหลังปลดล็อคไม้หวงห้ามในเขตปฏิรูปที่ดิน
นายวิวรรธน์ สงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สพท.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ในการสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้เกษตรกรและเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. จึงเดินหน้าให้ ส.ป.ก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยเฉพาะไม้หวงห้าม และสิทธิประโยชน์ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรจะต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง
ในอดีตที่ผ่านมา อุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า คือ ข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดไม้หวงห้าม ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 6 มีสาระสำคัญกำหนดไม้หวงห้ามไว้ 2 ประเภท ดังนี้ 1) ประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดา ได้แก่ ไม้ซึ่งการทำไม้จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับสัมปทานตามความในพระราชบัญญัติ ประกอบด้วยไม้จำนวน 158 ชนิด เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง ไม้กระพี้เขาควาย และไม้ชิงชัน เป็นต้น และ 2) ประเภท ข. ไม้หวงห้ามพิเศษ ได้แก่ไม้หายากหรือไม้ที่ควรสงวน ซึ่งไม่อนุญาติให้ทำไม้ เว้นแต่รัฐมนตรีจะได้อนุญาตในกรณีพิเศษ ประกอบด้วยไม้จำนวน 13 ชนิด เช่น กระเบา มะแข่น จันทน์หอม ตีนเป็ดแดง และกำยาน เป็นต้น
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ในมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับบที่ 106/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม”
กล่าวคือ เป็นการปลดล็อคไม้หวงห้ามในที่ดิน 2 ประเภท คือ 1) หนังสือกรรมสิทธิ์ ได้แก่ โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” และ 2) หนังสือแสดงสิทธิครอบครองในที่ดิน ได้แก่ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ใบจอง (น.ส.2 และ น.ส.2 ก.) แบบหมายเลข 3 (ที่ออกหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ) หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. และ น.ส.3 ข.)
ต่อมามีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดที่ดินที่ได้รับอนุญาต ให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิเพื่อให้ไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินดังกล่าวไม่เป็นไม้หวงห้าม พ.ศ. 2563 ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 มีสาระสำคัญตาม ข้อ 2 ให้ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ในเขตปฏิรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประเภทหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ตามแบบ ส.ป.ก.4-01, ส.ป.ก.4-01 ก, ส.ป.ก.4-01 ข, ส.ป.ก.4-01 ค และ ส.ป.ก.4-01 ช เป็นที่ดินซึ่งไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นไม้หวงห้าม
การแก้ไขกฎหมายข้างต้นส่งผลหลายประการ ได้แก่ 1) การตัดหรือโค่นไม้ ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2) การแปรรูปไม้ที่ตัดหรือโค่น ในที่ดินดังกล่าวไม่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ เว้นแต่ กรณีใช้เลื่อยวงเดือน ต้องขออนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ 3) การมีไม้แปรรูปหรือไม้ท่อนไว้ในครอบครอง ไม่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ 4) การเคลื่อนย้ายไม้ สำหรับที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถนำไม้เคลื่อนที่ได้ทั่วราชอาณาจักร โดยไม่ต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ต้องแจ้งผ่านด่านป่าไม้ เว้นแต่ที่ดิน ส.ป.ก. ผ่านด่านป่าไม้ต้องเสียค่าธรรมเนียมและขอออกใบเบิกทาง และ 5) การตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ยังคงต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ ซึ่งการปลดล็อคไม้หวงห้ามยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาปลูกไม้เพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างรายได้และเป็นมรดกให้กับครอบครัวในอนาคต อีกทั้งช่วยแก้ไขปัญหาการบุกรุกและลักลอบตัดไม้