
เหลือบไปเห็นข่าว ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาชนที่ดาหน้าออกมาตีปี๊บ"มหากาพย์ขบวนการค่าไฟฟ้าแพง" สับแหลกรัฐบาลแพทองธารที่เลือกอุ้ม "นายทุนพลังงาน"เดินหน้าลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าสานต่อ#ค่าไฟแพง" ที่ทำเอาโลกโชเชียลหูผึ่ง!
…
โดยหยิบยกเอากรณีที่รัฐบาลแพทองธารไฟเขียวให้ 2 การไฟฟ้า "กฟผ.-กฟภ." ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในโครงการเก็บตกเฟสแรก จำนวน 5,200 เมกะวัตต์ (MW) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตั้งโต๊ะประกาศรับซื้อไปตั้งแต่ปีมะโว้ 27 กันยายน 2565
แต่เพราะมีการร้องเรียนจากผู้ยื่นข้อเสนอด้วยกัน และมีการฟ้องร้องคดีคาราคาซังอยู่ จึงทำให้ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ(กฟผ.) มีการลงนามในสัญญารับซื้อไฟจากโครงการในมือไปเพียง 63 โครงการ จาก 83 โครงการ ยังเหลืออีก 20 โครงการที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้
#เผือกร้อนค่าไฟแพงในสามโลก!
พร้อมชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่สิ้นปี 67 ถึง 20 เม.ย. 68 รัฐบาล (โดย กฟผ.) มีการลงนามสัญญาเพิ่มเติมไปแล้ว 7 โครงการ เท่ากับว่าที่รัฐได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนไปแล้ว 70 โครงการ จากทั้งหมด 83 โครงการ และข้อมูลจากอนุ กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ ระบุว่า หลังญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี (มี.ค.68) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 506 MW ไปครบหมดแล้วเช่นกัน
ผลจากการที่รัฐบาลไฟเขียวให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาจัดซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม (ทั้งที่นายกฯ มีอำนาจยับยั้ง) จะทำให้ประชาชนคนไทยถูก "มัดมือชก" จ่ายค่าไฟแพงไปตลอดศกอีก 20-25 ปี
โดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ได้ตอกย้ำข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ราคาค่าไฟจะแพงขึ้นไปตลอดศกอย่างแน่นอน เพราะราคาไฟฟ้าที่รัฐประกาศรับซื้อจากเอกชนนั้น "แพงเกินจริง" เป็นการรับซื้อโดยไม่มีการเปิดประมูล รับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Solar, Wind) ที่ราคาลดลงทุกปี แต่ในระดับนโยบายกลับกำหนดราคารับซื้อในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2567 - 73) เท่าเดิมตลอด คือ 2.2 บาท/หน่วย (Solar) 3.1 บาท/หน่วย (Wind) และเป็นราคาคงที่ตลอดอายุสัญญา 25 ปี

"ส่วนต่างราคาค่าไฟที่รัฐรับซื้อ เทียบกับราคาค่าไฟที่ถูกลดลงทุกปี จะทำให้ค่าไฟในมือประชาชนแพงขึ้นปีละ 3,600 ล้านบาท หรือ 90,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 25 ปี โดยคำนวนเฉพาะ โครงการ Solar, Wind จำนวน 3,868 MW (ไม่รวมโครงการ Solar + Battery) ที่มีประมาณการต้นทุนลดลงทุกปี"
# ขึงพืด "เจ้าสัวทุนพลังงาน" ตามคาด
ด้านเครือข่ายพลังงานก็ออกมารับลูกด้วยการขุดข้อมูลย้อนหลังโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเฟสแรก จำนวน 5,200 เมกะวัตต์ (MW) ว่า มีกลุ่มทุนพลังงานใดบ้างได้ประโยชน์จากโครงการนี้
ซึ่งแทบไม่ต้องคาดเดา ชื่อของ "กลุ่มทุนพลังงาน" ที่เพิ่งป่าวประกาศผลสำเร็จในการควบรวมกิจการด้านพลังงานกับธุรกิจสื่อสารครบวงจร ถูกจับมา "ขึงพืด" ในฐานะกลุ่มทุนพลังงานที่ได้รับการพิจารณาจัดสรรมากที่สุดกว่า 1,800 MW หรือกว่า 38% แถมเจ้าสัวพลังงานที่ว่า ยังไปปรากฏตัวร่วมก๊วนกอล์ฟกับ "นายใหญ่-สทร." ด้วยอีก!
ก่อนจะโยงและสรุปว่า เงินค่าไฟส่วนเกินที่ประชาชนคนไทยต้องจ่ายออกไปให้กับโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนี้ ทั้งในรูปแบบค่า Adder และ Feed in Tarrif : FiT ในอัตราหน่วยละ 8-11 บาทเป็น "ต้นตอ" ที่ทำให้ค่าไฟ "แพงในสามโลก" อยู่ในปัจจุบัน!

#จับแพะชนแกะ...บทถนัดการเมืองน้ำเน่า!
ก็ไม่รู้เป็นความตั้งใจของพรรคประชาชนที่ต้องการ "จับแพะชนแกะ" หรือเพราะไม่ได้ศึกษาข้อมูลมาอย่างดีพอ จึงได้โยงข้อมูลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 5,200 MW กับเรื่องของค่า Adder - FiT และค่าความพร้อมจ่ายที่ทำให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้คือต้นตอที่ทำให้ค่าไฟ "แพงในสามโลก"
ทั้งที่กรณีการจ่ายเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มทั้งในรูป Adder และ Feed in Tarrif : FiT เพื่อจูงใจเอกชนลงทุนโครงการไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดเหล่านี้ มีมาตั้งแต่ปีมะโว้ 2553 - 2557 โน้นแล้ว

ขณะที่การตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดเฟสแรกในโครงการนี้ ที่ กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกไปเมื่อ 27 ก.ย.65 จำนวน 175 ราย รวม 4,852.26 เมกะวัตต์นั้น นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาชนเอง ก็โพสต์เองว่า มีราคาอยู่ที่ 2.2 บาทต่อหน่วยสำหรับ Solar และ 3.1 บาทต่อหน่วยสำหรับพลังงานลม (Wind)
ราคาค่าไฟพลังงานสะอาด 2.2 บาท และ 3.1 บาทที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการไปก่อนหน้า และรัฐบาลชุดนี้ได้ลงนามจัดซื้อเพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้ มันใช่ "ต้นตอ" ที่ทำให้ "ค่าไฟแพงในสามโลก" จริงหรือ?
เพราะมันเป็น "คนละเรื่องเดียวกัน" กับสัญญารับซื้อไฟในมือรัฐในอดีตที่ต้องจ่ายค่า Adder และ FiT ที่สูงถึงหน่วยละ 8-11 บาทเศษ ที่กระทรวงพลังงานเพิ่งจะขอไฟเขียวจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงไปสะสางสัญญาเหล่านี้ให้วเสร็จใน 45 วัน เพื่อหวังจะทำให้ราคาค่าไฟในมือประชาชนถูกลง
แล้วพรรคประชาชนไป "จับแพะชนแกะ- มั่วตุ้มข้อมูล" กันขนาดนี้ได้อย่างไร?

ข้อมูลที่เครือข่ายพลังงาน และ "ด้อมส้ม" ออกมารับลูก โดยระบุว่า ที่ผ่านมาเงินอุดหนุนที่รัฐจ่ายในโครงการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งในรูปแบบ Adder และ FiT ตั้งแต่ปี 2550 - 2568 ที่ส่งผ่านมาในค่า Ft รวม 462,477 ล้านบาท หรือหากดูเฉพาะค่า FiT ที่เก็บมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน จะพบว่า คนไทยต้องจ่ายค่า FiT ในบิลค่าไฟไปแล้วเป็นจำนวน 126,331.47 ล้านบาท
และจากฐานข้อมูลของ กกพ. ณ วันที่ 5 มีนาคม 2568 ระบุว่า ยังมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP )ที่ได้รับค่าAdder จำนวน 22 โครงการ ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) มีจำนวน 520 โครงการและได้รับค่า FiT อีก 372 โครงการ
แต่โครงการเหล่านั้นมันเกี่ยวอะไรกับโครงการจัดซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้ง Solar Farm และ Wind จำนวน 5,200 MW ที่ กกพ. และ 2 การไฟฟ้า ตั้งโต๊ะรับซื้อไปในปี 2566 และกำลังเซ็นสัญญา "โครงการเก็บตก" ในส่วนที่เหลือ และในเฟส 2 ที่ตั้งแท่นจะจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 3,600 MW โดยมีสนนราคาอยู่ที่ 2.2-3.11 บาทต่อหน่วย
มันใช่โครงการเดียวกับสัญญารับซื้อไฟ (ทาส) ที่มีอยู่ในมือรัฐในอดีตหรือ?
ตรงกันข้าม หากเทียบค่าไฟฟ้าในปัจจุบันที่รัฐเรียกเก็บจากประชาชนอยู่ 4.15 บาทต่อหน่วย จากที่เคยเรียกเก็บในอัตรา 4.18 บาทในช่วงก่อนหน้า และกำลังจะปรับลดลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยในงวดต่อไป (พ.ค. - ส.ค. 68) เมื่อเทียบกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในโครงการนี้ที่ท่าน สส.ทั้งหลาย ดาหน้ากันออกมาโพสต์เองว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2 - 3.1 บาทต่อหน่วยเท่านั้น (ยังไม่รวมกับโครงการจัดซื้อไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ที่มีราคาขายส่งมาถึงประเทศไทยที่ 2.12 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
ตกลงต้นทุน "ส่วนเกิน" ที่ปรากฏอยู่ในบิลค่าไฟเหล่านั้น มันไปตกอยู่ในเงื้อมมือใครกันหรือ? กลุ่มทุนพลังงาน หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดระบบสายส่งครบวงจรกันแน่
ที่สำคัญค่าไฟฟ้าในโครงการจัดซื้อที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งโต๊ะจัดซื้อไปก่อนหน้า 5,200 MW และที่รัฐบาล "แพทองธาร-คุณหนูของบ่าว" ลงนามในสัญญาจัดซื้อเพิ่มเติมไปล่าสุดนั้น
มันแพงกว่าต้นทุนค่าไฟที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) และ 2 การไฟฟ้าขายให้กับประชาชนคนไทยตรงไหน? (เอาปากกามาวง)